จากบทความตอนแรก (https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=1566)
ที่ได้อธิบายถึง พื้นฐานสำคัญที่เราควรรู้ รู้จักกราฟและหลักการทางเทคนิค Direction คืออะไร สำคัญอย่างไร วิธีตั้งกราฟให้เหมาะและเข้าใจง่าย และการอ่าน Chart Pattern & Indicators
บทความนี้เราจะมาต่อกันในเรื่อง การหาจุดซื้อจุดขายเราจำต้องพึ่งพา Indicator สำหรับมือใหม่นั้น แนะนำให้ทำความเข้าใจ Indicator 4 ประเภทหลักๆ คือ EMA, Volume, MACD และ RSI อีกหนึ่งเครื่องมือที่สำคัญใช้ในการวางแผนลงทุน
EMA
EMA (Exponential Moving Average) เป็น Indicator ที่บ่งบอกถึงค่าเฉลี่ยของราคาหุ้นย้อนหลัง โดยเราสามารถกำหนดระยะเวลาได้ เช่น EMA 25 Day ก็จะใช้ราคา 25 วันสุดท้ายมาเฉลี่ย
วิธีการใช้เบื้องต้น
เราจะใช้เส้น EMA หลายๆเส้นมาดูแนวโน้มราคาของหุ้น ซึ่งระยะเวลาของเส้น EMA ก็มีให้เลือกหลากหลาย เช่น EMA5,10,25, 50,75, 100, 200 โดยเริ่มแรกเราจะเลือกใช้ทั้งหมด 3 เส้น คือ EMA 5,10,25 ปกติแล้วไม่มีวิธีการใช้ที่ตายตัว ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของนักลงทุนเอง แต่มีหลักการใช้ที่เหมือนกัน สามารถดูแนวโน้มได้ ดังนี้
- EMA ทุกเส้นเริ่มเงยขึ้น แต่ละเส้นแยกออกจากกัน แล้วแท่งราคาอยู่ข้างบน แสดงว่ามี Direction เป็นขาขึ้น
- EMA ทุกเส้นเริ่มโค้งลง เส้นค่าเฉลี่ยที่น้อยกว่าเริ่มวิ่งตัดเส้นค่าเฉลี่ยที่มากกว่าลงมา แสดงว่ามี Direction เป็นขาลง
- EMA ทุกเส้นวิ่งเข้าหากัน แล้วพันกันเหมือนเกลียวเชือก ก็จะเป็นช่วงที่ Non – Direction หรือไม่มีแนวโน้ม
Volume
Volume จะบ่งบอกถึงปริมาณการซื้อขาย โดยใช้เพื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างราคาและปริมาณซื้อขาย โดยปกติราคาหุ้นจะขึ้นลงตามความต้องซื้อและขาย ดังนั้น “หุ้นจะหยุดลง เมื่อผู้คนหยุดขายและหุ้นจะหยุดขึ้นเมื่อไม่มีใครอยากซื้อ”
วิธีการใช้เบื้องต้น
หากแรงซื้อมากกว่าแรงขาย แท่ง Volume จะเป็นสีเขียว แสดงว่ามีแนวโน้มขาขึ้น กลับกัน หากแรงซื้อน้อยกว่าแรงขาย แท่ง Volume จะเป็นสีแดง แสดงว่ามีแนวโน้มขาลง นอกจากนี้ Volume ยังสามารถบอกความแข็งแกร่งของ Trend, สัญญาณการกลับตัว ซึ่งมักใช้ประกอบกับ Indicator ตัวอื่นๆ
ในรูปตัวอย่างมีการประยุกต์ใช้ โดยนำ EMA 5 หรือ Volume เฉลี่ย 5 วัน เข้ามาเปรียบเทียบ ยิ่งแท่ง Volume สูงกว่าเส้น EMA 5 มากเท่าไรยิ่งดี แสดงถึงภาวะที่น่าสนใจ อาจจะเกิด Direction ขึ้นได้
MACD
MACD (Moving average convergence divergence) เป็นเครื่องมือที่ใช้วัด Momentum เป็นการวัดกำลังหรือแรงเหวี่ยงของราคาหุ้นซึ่งขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ จำนวน Volume และความเร็วในการเคลื่อนที่ของราคาข้ามช่อง Bid-Offer พูดแบบนี้อาจจะฟังดูงงๆ ถ้าพูดแบบภาษาชาวบ้านทั่วไป ก็คือดูว่าราคาหุ้นยังมีแรงขึ้นหรือแรงลงอยู่ไหม เพื่อดูแนวโน้มและหาจุดซื้อจุดขาย
ส่วนประกอบของ MACD Indicator คือเส้น MACD ที่เกิดจากการนำเส้น Moving Average 2 ค่าที่แตกต่างกันมาลบกัน และเส้น Signal Line ที่เป็นเส้นค่าเฉลี่ยของเส้น MACD นั้นเอง การใช้กราฟแนะนำว่าให้ใช้แบบที่ 2 (ในรูปตัวอย่าง) คือเปลี่ยนเส้น MACD เป็นแท่ง(Histogram)จะทำให้ดูง่ายกว่า
วิธีการใช้เบื้องต้น
การตั้งค่าเส้น MACD และ Signal Line มาตรฐาน คือ EMA 12 เป็นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะสั้น, EMA 26 เป็นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ระยะยาว และ 9 เป็นค่าของ Signal Line เป็นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ของ MACD อีกที
วิธีดูสัญญาณ คือ หากแท่ง MACD ตัดขึ้น Signal Line และแท่ง MACD อยู่สูงกว่าศูนย์จะแสดงถึงสัญญาณซื้อ กลับกัน หากMACD ตัดลง Signal Line และแท่ง MACD อยู่ต่ำกว่าศูนย์จะแสดงสัญญาณขาย นอกจากนี้ สามารถใช้ EMA เข้ามาร่วมตัดสินใจเพื่อหาจุดซื้อจุดขายได้เพื่อความแม่นยำที่มากขึ้น ซึ่งการดูกำลังหรือแรงเหวี่ยงแบ่งเป็น 2 แบบ
- Convergent คือ ในราคาระดับเดียวกัน MACD ในปัจจุบันมากกว่า MACD ในอดีต แสดงว่าราคามีกำลังมากขึ้นกว่าเดิม ทำให้ราคามีแนวโน้มเป็นขาขึ้น
- Divergent คือ คือ ในราคาระดับเดียวกัน MACD ในปัจจุบันน้อยกว่า MACD ในอดีต แสดงว่าราคากำลังอ่อนแรงลง ทำให้ราคามีแนวโน้มเป็นขาลง
RSI
RSI (Relative Strength Index) เป็น Indicator ที่ใช้วัดการแกว่งของราคาหุ้นในช่วงหนึ่ง เพื่อดูภาวะการซื้อมากเกินไป (Overbought) หรือขายมากเกินไป (Oversold) ด้วยความที่ RSI เป็น Indicator ประเภท Oscillator จึงจะมีความแม่นยำน้อยในช่วงที่จะตลาดมีเทรนหรือแนวโน้มของราคาชัดเจน แต่จะทำงานได้ดีในช่วงที่ตลาด Side Way
วิธีการใช้เบื้องต้น
วิธีการตั้งค่า ส่วนใหญ่เราจะใช้ระยะเวลา RSI 14 ซึ่งหมายถึง ค่าเฉลี่ยของจำนวนที่เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น/ลดลงของราคาปิดใน 14 วัน โดยใช้ระดับเหนือกว่า 70% บอกภาวะ Overbought และใช้ระดับต่ำกว่า 30% บอกภาวะ Oversold
เมื่อเกิดภาวะ Overbought แสดงว่ามีการซื้อมากเกินไป ทำให้มีแรงเทขายตามมา ส่งผลให้ราคาหุ้นมีโอกาสเปลี่ยนแนวโน้มจากขาขึ้นเป็นขาลง กลับกันเมื่อเกิดภาวะ Oversold แสดงว่ามีการขายมากเกินไป ทำให้มีแรงซื้อกลับมา ส่งผลให้ราคาหุ้นมีโอกาสเปลี่ยนแนวโน้มจากขาลงเป็นขาขึ้นได้
นอกจากนี้ RSI ยังใช้ดู Divergent ได้อีกด้วย ซึ่ง Divergent บ่งชี้ถึงความขัดแย้งกันระหว่างราคากับ RSI แบ่งเป็น 2 แบบ 1.Bullish Divergence คือ RSI ปรับตัวสูงขึ้นแต่ราคาปรับตัวลดลด แสดงถึงแนวโน้มที่จะมีการกลับตัวเป็นขาขึ้น และ 2.Bearish Divergence คือ RSI มีการปรับตัวลดลงแต่ราคาปรับตัวขึ้น แสดงถึงแนวโน้มที่จะมีการกลับตัวเป็นลงขึ้น
สรุป
การลงทุนในแต่ละแบบทั้งการใช้ปัจจัยพื้นฐานและเทคนิคคอลล้วนมีข้อดีและข้อเสียต่างกัน หากเราเลือกใช้ในจุดดีของแต่ละแนวทางได้ นอกจากจะมีทางเลือกมากขึ้นในการทำกำไรแล้ว ยังช่วยให้เราเข้าใจตลาดในแง่มุมที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย
อ้างอิงบทความ: หนังสือ Wave Riders โต้คลื่นหุ้น รู้ทันเทคนิค, ประกาศิต ทิตาราม
สนใตอ่านเพิ่มเติม คลิก https://www.stock2morrow.com/publishing/bookdetail.php?id=157
แนะนำคุณผู้อ่านที่อยากเรียนเพิ่มเติม คอร์สของพี่ปุย ประกาศิต Stock2morrow จะสอนเทคนิคคอลพื้นฐานสำหรับผู้เริ่มต้น ขอบอกว่าคุณจะได้รับเทคนิคที่เอามาใช้ได้จริงในการลงทุนอย่างแน่นอน เพราะสอนโดยใช้ภาษาที่ง่าย มีการเปรียบเทียบกับเรื่องใกล้ตัวและกลั่นมาจากประสบการณ์จริง ทำให้ได้เคล็ดลับในการเทรดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในตลาด
หลักสูตร : ก้าวแรกเรียนรู้เทคนิคอล
วันสัมมนา : อา ที่ 24 มิ.ย. , อา ที่ 1 ก.ค. 61
เวลา : 09.30-16.30 น.
สถานที่ : Crowne Plaza