#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ส่องหุ้นสื่อสาร การประมูลคลื่น 1800 MHz...Dtac คือกุญแจสำคัญ

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
93 views

เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ได้มีข่าวทำให้กลุ่มสื่อสารหวือหวากันอีกครั้งเมื่อ กสทช. ประกาศเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และเปิดให้เอกชน 3 รายใหญ่เข้าร่วมฟังเนื้อหาได้แก่ Advanc, True และ DTAC ทั้ง 3 ราย ตอนนี้สถานะเป็นอย่างไรกันบ้าง มาดูกันครับ...

== TRUE ==
เจ้าแรกที่เรียกเสียงฮือฮาได้ก็คงหนีไม่พ้น True ทีประกาศไม่เข้าร่วมประมูลเป็นกลุ่มแรก จริงๆข่าวนี้ก็ไม่ใช่เรื่องเซอร์ไพรส์อะไรมากนักเพราะ True เองก็เคยพูดเป็นนัยๆแล้วว่า คลื่นที่มีอยู่ในมือมากที่สุดและพร้อมที่สุด ไม่มีความจำเป็นต้องประมูลเพิ่ม อีกทั้งการประมูลคลื่นที่ผ่านมา ถือว่า "จ่ายหนัก" ไปแล้ว การประมูลเพิ่มอาจจะไม่เป็นผลดีกับบริษัทและสถานะทางการเงิน

ปัจจุบัน True มีสถานะทางการเงินดูไม่ดีที่สุดใน 3 กลุ่ม หนี้สินต่อทุนสูงถึง 2.5 เท่า ทำให้สภาพคล่องของบริษัทค่อนข้างถูกจำกัด บริษัทมี ROE ราวๆ 3% และ Net Margin ที่บางมากถึง 1.1% อัตราส่วน P/E ที่ดูไม่ได้เพราะบางปีขาดทุน บางปีกำไร แต่ P/BV ที่ 1.73 เท่า

== ADVANC ==
แม้ว่าจะเป็นอีกกลุ่มที่ "สะบักสะบอม" ไปกับการประมูลคลื่นที่ผ่านมา และต้องมีวงเงินจ่ายสูงถึง 59,574 ล้านบาท ในปี 2563 แต่ด้วยฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งของกลุ่ม นักลงทุนจึงเชื่อมั่นได้ว่า ADVANC จะผ่านมันไปได้ด้วยดี

อย่างไรก็ตามทางผู้บริหารประกาศชัดเจนแล้วว่า คลื่นที่ AIS มีอยู่ในมือนั้นเพียงพอต่อการให้บริการแล้ว อาจจะไม่จำเป็นต้องประมูลเพิ่ม หรือไม่ต้อง bid ราคาสู้เพื่อให้ได้คลื่นมาก็เป็นได้

ปัจจุบัน ADVANC มีฐานะทางการเงินที่ดูดีที่สุดในกลุ่ม ROE สูงถึง 71% และ Net Margin สูง 19% อัตราส่วน P/E 18 เท่า ถือว่าไม่สูงมาก ในขณะที่ P/BV 11 เท่า ปันผลให้ระดับ 3.7% จึงถูกยกย่องว่า ADVANC เหมาะสมแก่การลงทุนระยะยาวมากที่สุดมาแต่ไหนแต่ไร

== DTAC ==
ที่บอกไว้ก่อนหน้าว่า กุญแจสำคัญของการประมูลครั้งนี้คือ DTACหลังจากที่ไม่ได้คลื่นเลยในรอบก่อน จึงเป็นรายเดียวที่จะต้องเข้าประมูลคลื่นในรอบนี้ แต่การไม่ได้ประมูลคลื่นทำให้ DTAC มีหนี้สินน้อยสุดและสถานะทางการเงินที่พร้อมมาก

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา DTAC ได้เซ็นสัญญาประกาศเป็นพันธมิตรกับ TOT นำคลื่นใหม่ 2300MHz ให้บริการ 4G ที่ใหญ่กว่า ล้ำกว่า ลื่นกว่า ให้ลูกค้าได้ใช้ก่อน ถือเป็นข่าวดีของ DTAC ในเชิงบวก แต่อย่างไรก็ตามเจ้าของคลื่นก็ยังเป็นของ TOT และมีสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่จะรองรับคลื่น 2300MHz

ในตอนนี้ DTAC มีคลื่น 1800 MHz แต่จะหมดอายุในวันที่ 15 กันยายน 2561 จึงไม่แปลกที่ DTAC จะต้องการคลื่นความถี่นี้มากที่สุด แต่ปัญหาของ DTAC คือ การประมูลใบอนุญาตที่มีราคาสูงมาก ซึ่งครั้งก่อน การประมูลคลื่น 1800 MHz DTAC ได้หยุดราคาที่ 17,504 ล้านบาท แต่การประมูลที่จะเกิดขึ้นมีราคาตั้งต้นสูงถึง 37,457 ล้านบาท สูงกว่าที่ DTAC คาดการไว้มากจึงแสดงความไม่สบายใจต่อ กสทช.ว่าราคาใบอนุญาตนี้สูงเกินไป และภาระนี้จะตกอยู่กับผู้บริโภค

อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้เปิดช่องไว้ว่า หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงรายเดียว กสทช.จะขยายเวลาไปอีก 30 วัน หากยังไม่มีก็จะเดินหน้าประมูลต่อไปเพียงรายเดียว โดยจะได้ใบอนุญาตในราคาตั้งต้นนี้ไป

เกมนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า DTAC จะทำอย่างไรกับการประมูลครั้งนี้ แล้วมันจะออกมาเป็นหน้าตาอย่างไร วันที่ 15 มิถุนายน นี้รู้ผลกันแน่นอนครับ

นักวิเคราะห์มองอย่างไร
บล.โกลเบล็ก เผย การเปิดประมูลคลื่นเป็นผลบวกต่อ DTAC ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงเรื่องใบอนุญาตมากสุด อย่างไรก็ตามประเด็นการขออนุญาตจากสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อเป็นพันธมิตรร่วมกับ TOT บนคลื่น 2300 Mhzยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม ก่อนจะได้รับความสนใจจากตลาดอีกครั้ง แนะนำ "เริ่มทยอยซื้อสะสม" DTAC ราคาเหมาะสม 52.34 บาท

บล.ซีจีเอส ซีไอเอ็มบี เผยหาก กสทช.ชุดรักษาการตัดสินใจที่จะดำเนินการประมูลคลื่น 1800 MHz คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. - ส.ค. 61 ซึ่งจะทำให้ความเสี่ยงขาดแคลนคลื่อนของ DTAC หมดไป จาก8 สัปดาห์ก่อนหน้าที่ประเด็นดังกล่าวฉุดหุ้นลงกว่า 17% ปรับคำแนะนำ จาก "ถือ" เป็น "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมาย 51.95 บาท

บล.เอเซีย พลัส เผย การประมูลจะยังคงให้แต่ละรายชนะประมูล 15 MHz แม้เกณฑ์ใหม่จะแบ่งออกเป็น 9 ใบ ใบละ 5 MHz และราคาประมูลจะใกล้เคียงกับคราวก่อนหน้าที่ 4 หมื่นล้านบาท 
DTAC ที่ผ่านมาลงทุนคลื่นสัมปทาน ต้องโอนให้กับ CAT และเช่ากลับมา เมื่อบวกกับต้นทุนที่จะขอเช่าคลื่น 2300 MHz จาก TOT ปีละ 4.5 พันล้านบาท เท่ากับว่า DTAC จะมีต้นทุนเพิ่มราว 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้นทุนดังกล่าวยังต่ำกว่าต้นทุนสัมปทานเดิมที่ DTAC จะหยุดรับรู้จำนวนมาก อย่างไรก็ตามปี 61 DTAC จะยังเผชิญกับผลขาดทุนบ้าง และกลับมาเทิร์นอะราวด์ในปี 62 ยังคงแนะนำ ซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 55 บาท

สรุปแล้ว นักวิเคราะห์มองประเด็นเป็นบวกต่อ DTAC เนื่องจากเป็นผู้ให้บริการที่มีความเสี่ยงด้านคลื่อนความถี่สูงที่สุด ซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ราคาหุ้นทรุดไปก่อนหน้า และหากชนะประมูลต้นทุนสัมปทานใหม่จะต่ำกว่าต้นทุนสัมปทานเดิมอีกด้วยแต่ปี 61 จะมีขาดทุนบ้างและผงาดอีกครั้งในปี 62

กุญแจสำคัญอยู่ที่ DTAC เท่านั้น .....

แต่ข่าวล่าสุด... บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จากัด (มหาชน) หรือ DTAC  แจ้งว่า จะไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1740-1785 /1835-1880 MHz  ที่กำหนดให้ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ตามประกาศฯดังกล่าว ยื่นคำขอรับใบอนุญาตตามแบบคำขอรับใบอนุญาตต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2561 โดยกำหนดวันประมูลเป็นวันที่ 4 สิงหาคม 2561

 ข่าวล่าสุดเช่นเดียวกันกับทาง Advanc แถลงไม่เข้าร่วมการประมูลคลื่น 1,800mhz !


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง