ผ่านมาด้วยความยาก สำหรับเดือนพฤษภาคม ปี 2018 ตลาดหุ้นมีความผันผวนเป็นอย่างมาก ขึ้น 2 วันลง 3 วัน และยังลงแรงอีก ล่าสุดผลตอบแทน YTD ติดลบเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
เมื่อหันกลับมามองปรากฏว่ามีคนพูดกันเกี่ยวกับเรื่อง "Sell In May And Go Away" คือ ขายเดือนพฤษภาคมและออกไปจากตลาดให้ไกล คำพูดนี้ได้ยินกันแทบทุกปีซึ่งเป็นเรื่องจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง บางครั้งเดือนพฤษภาคมก็ตกแรง บางปีเดือนพฤษภาคมก็ไซด์เวย์ออกข้าง แล้วจริงๆประโยคนี้เป็นเรื่องจริงมากน้อยแค่ไหน หรือไว้สำหรับปลอบใจนักลงทุนในช่วงที่หุ้นลง วันนี้เราจะมาไขคำตอบกันครับ ....
ประโยคนี้ได้มีการค้นพบหลักฐานเป็นครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 (ผ่านมา 300 กว่าปีแล้ว) เป็นคำโบราณบทกลอนของชาวอังกฤษที่ชอบพูดกันว่า ...
"Sell in May and go away, and come on back on St. Leger's Day."
เป็นความหมายที่ใช้สำหรับพวกชนชั้นสูง ขุนนาง พ่อค้าที่ร่ำรวยและนายธนาคาร ที่ให้ออกไปจากเมืองลอนดอนเพื่อหนีอากาศร้อน และกลับมาอีกครั้งในช่วงที่มีเทศกาลการแข่งม้า หรือ St. Leger's Day. ซึ่งจะมีการจัดเทศกาลอีกครั้งในช่วงกลางเดือนกันยายน
และประโยคนี้ก็แพร่หลายในอเมริกาช่วงศตวรรษที่ 19 และใช้กับพวกเทรดเดอร์นักค้าหุ้นวอล์สตรีทเป็นส่วนใหญ่ โดยแนะนำให้พวกเขาไปพักร้อนในช่วงเดือนพฤษภาคมที่มีวันหยุดเป็นจำนวนมาก ต่อมาประโยคนี้ก็มีการทำวิจัยอย่างเป็นรูปธรรมโดยใช้ข้อมูล 50 ปี ย้อนหลังของตลาดหุ้นวอล์สตรีท
ในปี 1950 จนถึงปี 2013 ผลตอบแทนของดัชนี Dow Jones ให้ผลตอบแทน 0.3% ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม ในขณะที่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายนให้ผลตอบแทนสูงถึง 7.5% ดังนั้นเขาจึงสรุปว่า นักลงทุนหรือเทรเดอร์ไม่จำเป็นต้อง "เล่นหุ้น" ในเดือนพฤษภาคม โดยแนะนำให้ขายหุ้นออกไปแล้วกลับเข้ามาตลาดอีกครั้งในเดือนตุลาคม
นิตยสาร Business Daily กล่าวไว้ว่าปริมาณการซื้อขายในช่วงเดือนพฤษภาคมน้อยกว่าอีก 11 เดือนที่เหลือ นักลงทุนเลยมีความเชื่อว่าเดือนพฤษภาคมเป็นช่วงที่หุ้นอาจจะตกได้มากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตามมีหลักฐานชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นในปี 2016 ถ้านักลงทุนได้ขายหุ้นออกไปในช่วงปลายเดือนเมษายนแล้ว พวกเขาจะพลาดตลาดกระทิงรอบใหญ่ในเดือนพฤษภาคม ปี 2016 ไปจนถึงเดือนมกราคมปี 2018 ที่ตลาดหุ้น NASDAQ วิ่งขึ้นมากถึง 55% ดังนั้นคำพูด Sell In May And Go Away ก็ไม่เป็นจริงซะทีเดียว
ฤดูกาล Sell In May And Go Away ในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Halloween Indicator นั้นหมายถึง ตลาดจะกลับมาดีอีกครั้งในช่วงวันฮาโลวีนนั้นเอง (ปลายเดือนตุลาคม)
ครั้งหนึ่ง CXO Advisory Group ได้ทำการทดลองหัวข้อเรื่อง กลยุทธ์ไหนดีที่สุดเมื่อนักลงทุนเจอกับ Sell In May And Go Away โดยใช้ข้อมูลถึง 142 ปีย้อนหลัง
วิธีที่ 1 ... ทำตามกลยุทธ์ Sell In May And Go Away ขายหุ้นเดือนพฤษภาคม และถือหุ้นในเดือนพฤษจิกายนไปจนถึงเดือนเมษายน
วิธีที่ 2 ... ทำตรงกันข้ามกับวิธีที่ 1
วิธีที่ 3 ... ถือหุ้นเฉยๆ เรียกว่ากลยุทธ์ Buy-and-Hold
ผลปรากฏว่า กลยุทธ์ที่ 1 สร้างผลตอบแทนได้ดีกว่ากลยุทธ์ที่ 2 แต่กลับสร้างผลตอบแทนได้น้อยกว่ากลยุทธ์ที่ 3 จึงสรุปผลการทดลองว่ากลยุทธ์ซื้อแล้วถือนั้นดีกว่าการซื้อๆขายๆ อาจจะมีสาเหตุในเรื่องของค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เช่น ค่า commission และภาษีนั้นเอง
Peter Lynch กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ว่าเดือนที่ไม่น่าลงทุนคือเดียวที่มี 30 วัน และ 31 วัน
ปีเตอร์ ลินซ์ ผู้จัดการกองทุนที่ประสบความสำเร็จเคยเขียนไว้ในหนังสือ Beating The Street ไว้ว่า "Sell In May And Go Away เป็นคำพูดที่ถูกยกขึ้นมากล่าวอ้างในทุกๆปี แต่ความเห็นส่วนตัวของผม เดือนที่ไม่น่าลงทุนคือเดียวที่มี 30 วัน และ 31 วัน" (เป็นคำพูดเชิงประชดประชัน)
ครั้งหนึ่ง ดร.นิเวศน์ กูรู VI ชื่อดังเคยเขียนไว้ในบทความว่า "เป็นเรื่องที่บังเอิญมีการพูดกันเล่น ๆ นานมาแล้ว และคนก็จะพูดต่อ ๆ กันไปทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นความจริงเลย ดังนั้น เรื่องนี้เราไม่ควรจะไปยึดถืออะไรจริงจัง "
สรุปแล้ว กลยุทธ์ Sell In May And Go Away อาจจะมีมูลความจริงในเชิงสถิติที่มีปริมาณการซื้อขายน้อยที่สุด เมื่อวอลุ่มน้อยโอกาสที่หุ้นลงก็มีสูงมากกว่า เหมือนเวลาเราเดินขึ้นบันไดที่ต้องใช้พลังงาน(วอลุ่ม)มากกว่าตอนเดินลงบันได ดังนั้นนักลงทุนที่เชื่อในเรื่องของ "เทคนิค" หรือ "สถิติ" ก็ควรจะยึดถือประโยคนี้ไว้กำหนดเป็นกลยุทธ์การเทรดของตัวเอง
แต่สำหรับนักลงทุนระยะยาวแล้ว ยิ่งเราจับจังหวะมากเท่าไร ขยับตัวมากเท่าไร ก็อาจจะผิดพลาดมากเท่านั้น ถ้าเราเลือกหุ้นถูกตัว ในราคาที่มีส่วนลด ระยะเวลาจะเป็นตัวสร้างผลตอบแทนให้สูงขึ้นเองครับ
แหล่งข้อมูล
https://www.investopedia.com/terms/s/sell-in-may-and-go-away.asp
https://www.investopedia.com/news/truth-about-sell-may-and-go-away/
http://www.thaivi.org/sell-in-may-and-go-away/