#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

สหรัฐ vs จีน เกาะติดกระแสสงครามการค้าโลก !

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
84 views

สหรัฐ vs จีน เกาะติดกระแสสงครามการค้าโลก 

จากที่เคยเป็นเพียงอุดมการณ์และนโยบายหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ดูเหมือนว่าศึกสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนกำลังใกล้จะปะทุมากขึ้นเรื่อยๆ 

แน่นอนว่าความตึงเครียดนี้ทำให้เหล่านักลงทุนทั่วโลกกังวลถึงชะตากรรมของเศรษฐกิจโลกและทิศทางของตลาดทั่วโลก  ว่าจะยังมีการปรับตัวลงของดัชนีหุ้นเหมือนเมื่ออาทิตย์ก่อนหรือไม่หลังการประกาศใช้ “ไม้แข็ง” โดยโดนัลด์ ทรัมป์

ความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคือ กลยุทธ์ของทรัมป์คือการบี้อีกฝั่งให้มากที่สุดเพื่อฐานเสียง แต่จะไม่ทำจริงทั้งหมด ขอให้ฐานเสียงตนได้เห็นว่าตนไม่อ่อนข้อกับ “ศัตรู” หรือขอให้อเมริกามีแต้มต่อมากขึ้นในการเจรจาการค้าแบบ bilateral ก็เป็นที่พอใจ ส่วนจีนหรือคู่ค้าคู่อริอื่นๆ เองก็จะพยายามทุกวิถีทางในการหาทางเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดของสงครามการค้านี้เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยจากการปล่อยให้มันเกิดขึ้น

บทความนี้จะสรุปสั้นๆ ว่า 1) เกิดอะไรขึ้นแล้วบ้าง ฝ่ายไหนทำอะไร ฝ่ายไหนโต้กลับ 2) ผลกระทบที่สามารถเกิดขึ้นได้บ้างจากสงครามการค้า

(Status Update ณ วันที่ 28 มีนาคม 2561)

สหรัฐฯ หมัดที่ 1: กระแสสงครามการค้าโลกครั้งนี้ดุเดือดขึ้นมาจริงๆ ก็เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทรัมป์ได้ประกาศว่าจะขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กกล้า 25% และภาษีอะลูมิเนียม 10% เนื่องจากทางทำเนียบขาวมองว่าอุตสาหกรรมเหล็กของสหรัฐฯ ต้องเจอกับการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมในตลาดโลก  แม้ว่าทางสหรัฐฯ จะยังไม่ “ลงไม้ลงมือ” กับประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา แต่ก็ได้ขู่เอาไว้ว่าประเทศพันธมิตรควรให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในการลงนามสัญญาการค้าอย่าง NAFTA ที่จะเกิดขึ้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้ มิเช่นนั้นก็จะถูกลงไม้ลงมือเช่นกัน

สหรัฐฯ หมัดที่ 2: ความรุนแรงของกระแสนี้ทวีขึ้นไปอีกครั้ง เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ทรัมป์ได้ลงนามกฏหมายฉบับใหม่ให้ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยให้เหตุผลว่าจีนได้ทำการยักยอกทรัพย์สินทางปัญญาของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากกลุ่มบริษัทไฮเทค ที่มีความสำคัญต่อการสร้าง competitive advantage ในระดับประเทศ(https://www.whitehouse.gov/presidential-actions/presidential-memorandum-actions-united-states-related-section-301-investigation/)  นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้รมต.คลังสหรัฐฯ ทำการตั้งข้อจำกัดในการที่จีนจะเข้าไปลงทุนในบริษัทอเมริกันด้วย

จีนหมัดที่ 1: ภายในคืนเดียวหลังจากหมัดที่ 2 ของสหรัฐฯ กระทรวงพานิชจีนโต้กลับด้วยการเตรียมขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวมแล้วประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์ (http://english.mofcom.gov.cn/article/newsrelease/policyreleasing/201803/20180302723534.shtml)  หนึ่งในจำพวกสินค้าที่เข้าข่ายคือเนื้อหมู ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญในรัฐไอโอวาที่เป็นฐานเสียงค่อนข้างสำคัญของทรัมป์และพรรครีพับลิกัน  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื้อความของประกาศของกระทรวงพาณิชย์ถือว่าอ่อนนุ่มมากเมื่อเทียบกับฝั่งอเมริกัน เหมือนกับว่าถ้าเป็นไปได้ไม่อยากปล่อยออกไปเลยหมัดๆ นี้

EU หมัดที่ 1: ทาง EU นั้นถึงแม้ว่าจะยังไม่ถูกลงไม้ลงมือด้วยการขึ้นภาษีเหล็กจริงๆ ก็ออกมาตอบโต้ว่าตนต้องการถูกละเว้นจากนโยบายนี้แบบถาวร และยังคงแผนเดิมว่าจะตอบโต้กับสหรัฐฯด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ หากสหรัฐฯ จะดำเนินนโยบายขึ้นภาษีเหล็กกับ EU

เกาหลีใต้ รับหมัดที่ 1: ล่าสุดการเจรจาระหว่างเกาหลีใต้และสหรัฐฯ อาทิตย์นี้จบลงด้วยเกาหลีใต้ยอมปรับลิมิตจำนวนรถยนตร์อเมริกันจาก 25,000 คันต่อปี เป็น 50,000 คันต่อปี (https://www.bloomberg.com/news/articles/2018-03-27/kim-jong-un-returns-to-north-korea-after-meeting-xi-in-china)   นอกจากนั้นเกาหลีใต้จะลดการส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ ประมาณเกือบ 3 ล้านตันต่อปีเพื่อแลกกับการที่เกาหลีใต้จะหลุดพ้นจากการขึ้นภาษีเหล็ก 25% (หมัดแรกของสหรัฐฯ)

ผลกระทบที่เกิดขึ้นได้และสิ่งที่ควรจับตาดู

1. สงครามการค้า (ถ้าเกิดขึ้นจริง) จะทำให้ทั้งสองฝั่งเสียประโยชน์ รวมถึงประเทศที่ไม่มีเอี่ยว แต่มีคนกลุ่มเล็กๆ ที่ได้ประโยชน์  - ในฝั่งสหรัฐฯ เองแรงงานในภาคการผลิตที่ถูกคุ้มครองจะได้รับอานิสงค์บางส่วนจากนโยบายกีดกันทางการค้านี้ แต่เมื่อมองภาพรวมแล้วประโยชน์นี้มีโอกาสถูกลบล้างจนหมดสิ้นเมื่อคำนึงถึงผลกระทบทางลบต่อกลุ่มธุรกิจและแรงงานในภาคการผลิตอื่นๆ ที่อาจถูกตั้งเป็นเป้าหมายโจมตีของคู่ค้าที่กำลังทำศึกด้วย

แม้กระทั่งธุรกิจในภาคการผลิตที่ไม่ส่งออก หรือ ในประเทศที่ไม่ได้ไปเกี่ยวข้องกับการทะเลาะเบาะแว้งเลย แต่ดันเป็นส่วนหนึ่งของ supply chain ที่มีการใช้วัตถุดิบที่เป็นสินค้าที่กำลังจะมีราคาสูงขึ้นเพราะการขึ้นภาษีนำเข้า ก็จะได้รับผลกระทบทางลบเช่นกัน

ในระยะยาวผู้เขียนมองว่าการขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อปกป้องแรงงานในบางอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก จะไม่มีผลใดๆ ต่อการช่วยให้ลุงๆ ในโรงงานถลุงเหล็กมีงานที่มั่นคงขึ้นเนื่องจากเทคโนโลยีในการผลิตเหล็กได้เปลี่ยนไปมาก จากที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ปัจจุบันแทบไม่ต้องใช้คนแล้ว  กลยุทธ์ของฝั่งอเมริกันจึงมีนัยที่จะเอื้อต่อความได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งถัดไปมากกว่าการช่วยปัจจัยทางเศรษฐกิจจริงๆ

2. ตลาดอาจเกิดความผันผวนตามผลการเจรจาแบบ Bilateral - ตั้งแต่ทรัมป์ขึ้นครองอำนาจ จะเห็นได้ว่าเวทีเจรจาการค้าแบบ multilateral แทบจะถูกลบล้างไปหมดสิ้น สิ่งที่ทรัมป์ต้องการคือการสร้างความเชื่อมั่นกับฐานเสียงให้ได้ว่า วันนี้เขาได้ทำให้การขาดดุลการค้าลดลง (โดยเฉพาะกับจีน) ไม่ว่าผลลัพธ์ทางเศรษฐศาสตร์จริงๆ แล้วจะออกมาท่าไหน

ขณะนี้ประเทศไทยติดอันดับ 12 ที่สหรัฐฯ ขาดดุลด้วยมากที่สุด ซึ่งถือว่ายังตกเป็นเป้าหมายที่สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเข้ามาเจรจาด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมการผลิตอันดับต้นๆ ที่เราส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ ยาง เครื่องประดับ รถยนต์ และเหล็ก  

การที่ทรัมป์เปิดเกมแบบนี้และทำการเจรจาเป็นนัดๆ ทำให้เรามีโอกาสเห็นการเจรจาการค้าแบบถัวเฉลี่ยแลกหมัดแบบเดียวกับที่เกาหลีใต้เพิ่งทำเพิ่มขึ้น ข้อดีคือมันจะเป็นการลดโอกาสเกิดสงครามการค้ารุนแรงได้ แต่ข้อด้อยคือมันมีความความไม่แน่นอนสูงว่ามันจะเกิดขึ้นไหมและใครได้ใครเสียจากการเจรจา

3. สปอร์ตไลท์อยู่ที่จีน - หมากต่อไปของจีนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบกับเศรษฐกิจหลายประเทศ เนื่องจากจีนเป็นประเทศที่ต้องการโตแบบมีสันติโดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนไม่คิดว่าสงครามนี้จะไปถึงขั้นที่จีนจะเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ทิ้งแบบฉับพลัน  สิ่งที่เป็นไปได้มากกว่าคือการยอมเล็กยอมน้อยในการดำเนินนโยบายการค้า เพื่อให้ผลสุดท้ายออกมาแล้วจีนไม่เสียประโยชน์มากนัก

แต่ทว่าการที่จีนเจรจาออกมาแล้วจีนโดยรวมไม่เสียประโยชน์ไม่ได้แปลว่าประเทศอื่นอย่างประเทศไทยจะไม่เสียประโยชน์ เนื่องจากถ้าจีนยอมให้สหรัฐฯ ได้เปรียบมากขึ้นในบางตลาด เช่น ยอมให้สหรัฐฯ เข้าไปขายรถยนต์มากขึ้น ตลาดรถยนต์ในจีนจะแข่งขันสูงขึ้นซึ่งอาจกระทบยอดขายของรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่ไทยส่งออกไปยังประเทศจีนได้ 


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง