#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

“ออเจ้า บุพเพสันนิวาส” ปรากฎการณ์แข่งขันโฆษณาทีวีอันดุเดือด !

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
300 views

         เชื่อว่าช่วงเวลานี้ ออเจ้าทั้งหลาย คงไม่มีใครไม่รู้จักละครพีเรียดย้อนยุคอิงประวัติศาสตร์ ที่สร้างความแตกต่างฉีกกฎละครพีเรียดทุกเรื่องที่เคยมีมา โดยการเสริมความเป็นคอมเมดี้ เรียกเสียงฮากันได้ทุกเบรก แต่อัดแน่นด้วยสาระความรู้ทางประวัติศาสตร์ สร้างปรากฎการณ์มากมายในโลกโซเชียลมีเดีย เช่น การะเกดร้อยมีม (Meme) และคำพูดฮิตติดหูว่า “ออเจ้า” กันทั้งบ้านทั้งเมือง รวมถึงการกวาดเรตติ้งรายการไพร์มไทม์หลัง 2 ทุ่มไปอย่างถล่มทลาย

   ในแง่ของรายได้ของละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ซึ่งออกอากาศในวันพุธและพฤหัสบดี เวลา 20:20 – 22:50 น. คิดเป็น 2.5 ชั่วโมงต่อวัน สันนิษฐานไว้ว่าจะมีการออกอากาศทั้งหมด 14 ตอน ซึ่งตามพรบ.กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ระบุว่าจะสามารถโฆษณาได้ไม่เกิน 12.5 นาทีต่อชั่วโมง  โดยมีอัตราค่าโฆษณาทวีช่วงละครหลังข่าวตกอยู่ที่ประมาณ 480,000 บาท/นาที เทียบเคียงกับละครเรื่อง นาคี ที่มีความดังในระดับใกล้เคียงกัน 
     ซึ่งในปีที่ผ่านมาที่มีการแข่งกันกันอย่างดุเดือดในสื่อโฆษณาทีวี ทำให้เกิดการทำโปรโมชั่นอย่างหนักหน่วง เพื่อดึงเม็ดเงินโฆษณาจากแบรนด์ และมีเดียเอเยนซีให้เข้ามา โดยหนึ่งในกลยุทธดังกล่าวคือการลดค่าโฆษณาลงประมาณ 15% ดังนั้นถ้าหากพิจารณาเฉพาะส่วนเพิ่มจากความดังของละครซึ่งสามารถขายโฆษณาโดยไม่มีโปรโมชั่นทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นในหลักหมื่นบาทต่อนาที (ตัวเลขประมาณการในการยกตัวอย่างเท่านั้น) และสามารถขายโฆษณาได้เต็มเวลา 100% จากที่เคยขายได้ 85% โดยออกอากาศทางช่องทีวีอะนะล็อค 1 ช่องและช่องทีวีดิจิตอล 1 ช่อง

     ถ้าเราอ้างอิงบนสมมุติฐานที่เป็น Best Case คือขายโฆษณาได้โดยไม่ต้องมีโปรโมชั่นและขายได้เต็มเวลา เราก็คงพอคำนวณคร่าวๆ ได้ถึงกำไรส่วนเพิ่มนี้จากประโยชน์ที่ได้รับจากกระแสความดังของละคร และพอจะสามารถคาดเดาผลกำไรที่มีเพิ่มขึ้นว่าจะส่งผลต่อบริษัทมากน้อยเพียงใดได้พอสมควร

     ลองมาดูภาพรวมการใช้เงินโฆษณาในบ้านเรากันบ้างนะครับ  สมาคมมีเดียเอเยนซี่ และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย (Media Agency Association of Thailand: MAAT) ได้ออกมาคาดการณ์การใช้สื่อในปี 2561 ว่าจะเติบโตขึ้น 4% 

    จากข้อมูลด้านบนจะพบว่าสื่อทีวียังคงเป็นสื่อหลักในการครองสัดส่วนโฆษณาทั้งหมดมาโดยตลอดตั้งแต่ปี 2559 แต่สื่ออินเทอร์เน็ตก็มีการเติบโตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมาโดยลำดับเช่นกัน และในปี 2561 นี้จะเป็นปีแรกที่สื่ออินเทอร์เน็ตจะก้าวขึ้นมาครองสัดส่วนโฆษณาในลำดับที่ 2  แทนที่สื่อหนังสือพิมพ์

     โดยปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เม็ดเงินโฆษณาในสื่ออินเทอร์เน็ตขยายตัวต่อเนื่อง คือการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย ปัจจุบันผู้บริโภคชาวไทยกว่า 75% เข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพิ่มขึ้นจาก 49% ในปี 2558 การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจำนวนมากนั้นก็มาจากการอัตราการครอบครองสมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนั้นเอง

      เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้บริโภคยุคใหม่นั้นใช้เวลาส่วนมากอยู่กับโลกออนไลน์ เพราะนั่นเป็นที่ที่ทำให้พวกเขาเชื่อมต่อกับ “โลก” ได้สะดวกมากขึ้น  ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปในการเข้าถึงสื่อแบบดั้งเดิมที่ดูผ่านทางช่องทีวี เปลี่ยนไปดูผ่านทางช่องทางออนไลน์มากขึ้น

      หากมีคอนเทนต์อะไรที่โดนใจผู้บริโภคสื่ออย่าง เช่น รายการ บุพเพสันนิวาส The Mask Singer หรือ BNK 48 ก็จะเกิดการรวมกลุ่มกันของผู้ที่คลั่งไคล้ในเรื่องเดียวกัน และยอมทุ่มแทอย่างมากเพื่อการได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่ง เฝ้าติดตาม และพร้อมจะผลักดันให้สิ่งที่รักนั้นไปอยู่ในจุดที่สูงสุดเท่าที่จะสามารถทำได้ผ่านการขับเคลื่อนด้วยโซเชียลมีเดีย ทำให้การรับรู้แพร่กระจายออกไปได้ไกล และรวดเร็ว

      ย้อนกลับไปดูประโยคของ “ออกญาโหราธิบดี” ในเรื่องบุพเพสันนิวาสกันสักนิดก่อนจบกันหน่อยนะออเจ้าทั้งหลาย ออกญาโหราธิบดีได้กล่าววาจาน่าคิดไว้ว่า “คิดถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้ จะหมกมุ่นอยู่กับการนั้นเพื่อประโยชน์อันใด มองเห็นถึงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ตรงนี้เป็นการสำคัญกว่านะออเจ้า”

 

     มนุษย์ชอบคิดถึงอดีต คิดถึงความรุ่งเรือง แต่จริงแล้วเราควรศึกษาอดีต เพื่อพัฒนาปัจจุบัน และทำนายอนาคต ผลงานในอดีตของบริษัทมหาชนจำกัดมิได้เป็นตัวการันตีถึงผลงานในอนาคตว่าจะดีหรือไม่ หากแต่ขึ้นอยู่กับแผนการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบันว่ามีความสามารถในการแข่งขันได้ดีเพียงใด

      การแข่งขันที่ดุเดือดในสื่อโฆษณาทีวี เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่มีแนวโน้มที่ลดลงเรื่อยๆ โดยมีผลจากพฤติกรรมเปิดรับสื่อหลายหน้าจอของผู้บริโภค  หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทันก็มีสิทธิถูกกระแสของ Digital Disruption กวาดล้างเหมือนที่เกิดกับสื่อหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ได้เช่นกัน

     เราคงต้องคอยติดตามการปรับตัวของสื่อว่าจะไปในทิศทางใด เพราะพฤติกรรมของผู้บริโภคคือทางรอดของสื่อ ไม่ต้องไปอ่านผลสำรวจของสำนักไหนหรอกครับ ลองสำรวจตัวเราเองก็ได้ว่าทุกวันนี้เราใช้เวลาไปกลับสิ่งไหนมากว่ากันระหว่าง “ทีวี กับ สมาร์ทโฟน” แล้วคุณหล่ะคิดว่าอนาคตที่อยู่ข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ? 

------------------------------------

บทความจากโครงการ Stock Writer เขียนโดย หมู่บ้านนักลงทุน
https://goo.gl/4Z3Rie 

เครดิตภาพ : GMLive


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง