#แนวคิดด้านการลงทุน

3 บทเรียนชีวิตจากหนังสือ Principles โดย Ray Dalio

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
70 views

3 บทเรียนชีวิตจากหนังสือ Principles โดย Ray Dalio

ก่อนอ่าน Principles ผมคิดว่า Ray Dalio เป็นคนที่มองโลกการลงทุนทะลุปรุโปร่งที่สุดคนหนึ่งของโลก

หลังอ่านจบผมพบว่ามุมมองที่ผมเองและคนส่วนมากมักมีต่อ Ray Dalio นั้นแคบกว่าสิ่งที่เขาเป็นและสิ่งที่เขาคิดมาก

Ray เป็นมากกว่ากูรูการลงทุน เขาเป็นคนใจแกร่งดั่งหินที่สามารถ “crack the code” ของการประสบความสำเร็จในชีวิตและในหน้าที่การงานได้อย่างมีระบบถึงขั้นที่เราไม่มีข้ออ้างว่าทำไมเรายังไปไม่ถึงจุดหมายเสียที

และเขาจะมาแชร์วิถีของเขาให้กับคุณในหนังสือเล่มนี้

บทความนี้คัดเอา 3 บทเรียนชีวิตจาก Principles มาแบ่งปันกัน โดยหวังว่าท่านจะไปหาเล่มเต็มมาอ่านเพื่อซึมซับมันมากขึ้น

*ผมคิดว่าแต่ละคนจะมองสิ่งที่ Ray เขียนไว้จากมุมมองต่างกัน  เพื่อความกระจ่างของบทความนี้ ผมอ่าน Principles จากมุมมองนักเศรษฐศาสตร์  นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล และจากมุมมองของคนธรรมดาที่ยังมีบ้างที่จะพ่ายแพ้ต่อ ego ตัวเองและความกลัวที่จะต้องเผชิญกับความเป็นจริงหรือความล้มเหลวเป็นบางครั้ง

เครดิตรูป : http://fortune.com/2017/09/13/ray-dalio-bridgewater-associates-book/ 



1. ค้นหาและยอมรับความเป็นจริง

Ray เป็น “hyper realist” ผู้ที่มองโลกและชีวิตจากรากฐานที่หมดเปลือกที่สุด  มองคนเป็นสัตว์ มองสมองเป็นคอมพิวเตอร์ มองการกระทำเป็นผลจากเคมีในร่างกาย  มองตนเองจากมุมมองจากด้านบน (เหมือนเล่นเดอะซิมส์)

เขาคิดว่าไม่มีอะไรสำคัญกว่าการแยกแยะว่าอะไรจริงอะไรปลอมในชีวิตแล้ว  และถ้ามันยาก เราควรต่อสู้เพื่อค้นพบความจริงเหล่านั้น

เพราะความไม่จริงจะเป็นตัวรั้งเราในการก้าวจากจุด A ไปจุด B และเผลอๆ จะทำให้เราหยุดอยู่กับที่หรือเดินผิดทาง

Ray จึงย้ำว่าถ้าจะตามวิถีเขา เราควรทำตัวเปิดเผยอย่างสุดโต่ง (be radically transparent) และเปิดใจให้กว้าง (be radically open-minded) 

ไม่ว่าจะเป็นในการค้นหาเป้าหมายชีวิต  ถ้าเราไม่เคลียร์ ถ้าเราเอา "ความอยาก" มาเจือปนกับ "เป้าหมาย" เราจะก้าวผิดตั้งแต่ก้าวแรก

หรือจะเป็นในใช้เวลากับคนรอบข้าง ถ้าเราปกปิดความคิดที่แท้จริง ไม่ยอมรับความจริง เพียงเพราะเกรงใจผู้อื่น กลัวตัวเองหน้าแตก กลัวตัวเองเสียใจ กลัวคนอื่นเสียใจ  progress ของเราและคนกลุ่มนี้จะ “ติดค้าง” ไม่ไปไหนเสียที เพราะมัวแต่เสียเวลาจมอยู่กับความไม่จริง เกิดความเสียดทานโดยไม่จำเป็น ทะเลาะกันไปทะเลาะกันมาอย่างสิ้นเปลือง

ในการพัฒนาตนเอง การเปิดใจให้กว้างก็สำคัญ โดยเฉพาะสำหรับคนเก่ง เนื่องจากมันจะช่วยลดโอกาสที่เรากำลังหลอกตัวเองว่าเราถูก (ทั้งๆ ที่เราอาจจะผิดร้ายแรง)  ดีเสียกว่าคือการเป็นผู้ฟังที่ดี เป็นผู้ที่ออกมามองตัวเองและสถานการณ์จากมุมมองคนที่สามได้อย่างไร้อคติ รับฟังความเห็นจากผู้น่าเชื่อถือ แล้วจึงค่อยตัดสินใจด้วยระบบความคิดที่ objective ที่สุดเท่าที่ทำได้

จงสู้เพื่อความจริง จงคิดและมองโลกแบบ higher level thinking เพราะท้ายสุดแล้วความไม่จริงไม่เคยช่วยให้คุณก้าวหน้าขึ้น

2. มองโลกให้เป็นเกมและสร้างระบบเพื่อพิชิตมัน

ในมุมมองของ Ray การไปให้ถึงจุดหมายนั้นไม่ต่างจากการเล่มเกมเกมหนึ่ง แต่มันเป็นเกมที่แตกต่างและมีความท้าทายกว่าเกมทั่วไป เนื่องจากไม่มีใครบอกเราว่าเกมนี้มีเส้นชัยอยู่ที่ไหน มีอุปสรรคอะไรบ้าง ผ่านจุดนี้แล้วจะมีอุปสรรคอะไรอีก ไม่มีสัญญาณบอกตรงๆ ว่าเรามาถูกทางหรือไม่  ไม่มีแม้แต่การแสดงว่า stat ของผู้เล่นเป็นอย่างไรในขณะนี้ หรือผู้เล่นเข้าใกล้เส้นชัยแค่ไหนแล้ว

นี่คือเกมที่ชื่อว่า “ชีวิต” ในมุมมองของ Ray

บทเรียนแรกที่ Ray แนะนำให้ค้นหาความจริงจึงมีความสำคัญมาก  เนื่องจากเราต้องหมั่นประเมินตัวเองและสถานการณ์เพื่อที่จะทำให้เรารู้ว่า เราห่างจากการพิชิตเกมนี้แค่ไหน มีอุปสรรคอะไรบ้าง และต้องทำอะไรอีกถึงจะพิชิตมันได้

Ray วางระบบ 5 ขั้นไว้ให้เราลองทำตาม

หนึ่งคือตั้งเป้าให้ชัดเจน

สองคือหาปัญหาทั้งหมดที่กั้นระหว่างคุณกับเส้นชัยให้เจอ

สามคือวินิจฉัยว่าปัญหามีที่มาอย่างไร เป็นที่เราด้อยความสามารถ หรือเป็นเพราะอุปสรรคมันยาก

สี่คือวางแผนแก้ปัญหาเหล่านั้น

ห้าคือทำทุกวิถีทางให้แผนถูกนำไปปฏิบัติจนบรรลุผล

และควรทำทีละชั้นแยกกัน อย่ากังวลข้ามช๊อต ค่อยเป็นค่อยไป

3. อย่าหนีปัญหาและความเจ็บปวด

Ray เป็นคนที่เชื่อในหลักการและความงดงามของการวิวัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นวิวัฒนาการในสัตว์หรือในระบบเศรษฐกิจ 

เมื่อเจอปัญหาหรือการพัฒนาเริ่มชะลอ จะมีสิ่งมีชีวิตบางกลุ่ม หรือ นักธุรกิจบางกลุ่มที่แซงนำเหนือคนอื่นได้โดยการพยายามพัฒนาสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ให้ดีขึ้น

แต่ทำไมคนส่วนมากถึงไม่ “วิวัฒนาการ” อย่างนี้?

Ray มองว่าการอยู่เฉยๆ หรือหลอกตัวเองว่ากำลังไปได้ดี มันง่าย ส่วนการพยายามพัฒนาให้ไปข้างหน้ามักมากับความเจ็บปวด เพราะมันต้องมีการประเมินตน ให้คนอื่นมาบอกจุดอ่อนตนเอง มันต้องมีการลองของใหม่ทีไม่ถนัด  มันตัองมีการล้มแรงๆบ้าง  จึงเป็นธรรมชาติที่สมองส่วนล่างของเราจะไม่ชอบความรู้สึกว่าเราไม่เก่งพอ เราล้มเหลว เราเจ็บตัว เจ็บใจเพราะอีโก้ถูกทะลาย เจ็บเพราะถูกคอมเมนท์แทงใจดำ

แต่ Ray ย้ำว่าให้เปลี่ยนแนวคิดเดิมกับความเจ็บปวด จาก ”เกลียดชัง” มาเป็น “โอบรับ” เสีย  เนื่องจากเขาเชื่อว่ามันเป็นหนทางเดียวสู่ความแข็งแกร่ง และการวิวัฒนาการจากเราวันนี้ ไปเป็นเราที่ใกล้เป้าหมายขึ้นในวันข้างหน้า  ผ่านการเรียนรู้ว่าทำอะไรแล้วเราไปข้างหน้า ทำอะไรแล้วเราล้ม 



สุดท้ายนี้ผมหวังว่าผู้อ่านจะลองไปหาเล่มเต็มมาอ่านกันนะครับ

สิ่งที่ Ray พูดอาจจะดูพื้นฐาน ตรงๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายๆ อย่างมันก็จริง  และถึงแม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับ values ของ Ray ในทุกๆ ด้าน ผมได้แรงบันดาลใจมหาศาลในการจัดชีวิตให้มีระบบขึ้น เร็วขึ้น มีจุดหมายขึ้น และมีรสชาติขึ้นด้วยเวลาที่ผมมีอย่างจำกัดบนโลกนี้


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง