#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

ลงทุนหุ้นปัจจัยพื้นฐาน - “ไขรหัสงบหุ้นธนาคาร” แบงค์ไหนรุ่ง - ร่วง ?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
212 views

หุ้นกลุ่มแบงค์ ถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อตลาดหลักทรัพย์ และมีผลต่อระบบเศรษฐกิจการเงินเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเงินทุนที่สำคัญของธุรกิจต่างๆ โดยหุ้นกลุ่มนี้มีสัดส่วนมูลค่า Market Cap. สูง รองจากกลุ่มพลังงาน  

ไม่น่าแปลกใจที่หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์นี้ จะเป็นหุ้นที่สนใจของนักลงทุนรายใหญ่ กลุ่มสถาบันหรือนักลงทุนต่างชาติด้วยเช่นกัน

CIMBT เผยปี 2017 มีกำไร 384.90 ลบ. เพิ่มขึ้น 161.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน 1.8% และการลดลงของสำรองหนี้สงสัยจะสูญ 19.5% ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.6%

TISCO เผยปี 2017 มีกำไรสุทธิ 6,090.01 ลบ. เพิ่มขึ้น 21.66% เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจากธุรกิจหลัก รวมถึงค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญลดลง

 TCAP เผยปี 2017 มีกำไร 7,001.17 ลบ. เพิ่มขึ้น 16.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน และคุณภาพหนี้อย่างมีประสิทธิภาพ

BAY เผยปี 2017 มีกำไร 23,209 ลบ. เพิ่มขึ้น 8.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิจากการเติบโตของเงินให้สินเชื่อ และการเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม และรายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ

TMB เผยปี 2017 มีกำไร 8,686.66 ลบ. เพิ่มขึ้น 5.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน

BBL เผยปี 2017 มีกำไร 33,008.71 ลบ. เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิและกำไรสุทธิจากเงินลงทุน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ (ส่วนใหญ่จากค่าธรรมเนียมจากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวม) และค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อ รวมถึงค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานที่ลดลง

KKP เผยปี 2017 มีกำไร 5,736.87 ลบ. เพิ่มขึ้น 3.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยเป็นกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำ เนินการโดยบมจ.ทุนภัทร และบริษัทย่อย ได้แก่ บล.ภัทร และ บลจ.ภัทร จำนวน 895 ลบ.

 LHBANK เผยปี 2017 มีกำไร 2,603.44 ลบ. ลดลง 3.4% เป็นผลจากรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยสุทธิลดลง 28.8% และการตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง 39.8% เนื่องจากธนาคารได้กันเงินสำรองไว้อย่างเพียงพอ ดังเห็นได้จากสัดส่วนเงินสำรองพึงมีต่อเงินสำรองพึงกันอยู่ในสัดส่วนที่สูงที่ 186.08%

SCB เผยปี 60 มีกำไร 43,151.90 ลบ. ลดลง 9.4% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นโดยพิจารณาถึงหลักความระมัดระวัง รวมถึงจากการคาดการณ์ความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามหลักเกณฑ์ทางบัญชีที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น 11.6% ส่วนใหญ่จากการลงทุนทางด้านเทคโนโลยีทางด้านเทคโนโลยีและการขยายฐานลูกค้าในช่องทางดิจิทัลของธนาคาร

 KBANK เผยปี 2017 มีกำไร 34,338.25 ลบ. ลดลง 14.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เป็นผลมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น เพื่อดำรงสถานะทางการเงินต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio)

KTB เผยปี 2017 มีกำไร 22,445.40 ลบ. ลดลง 30.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากการกันสํารอง (หนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญ และขาดทุนด้อยค่า) เพิ่มขึ้น

 

จากข้อมูลงบการเงิน 5 ปีย้อนหลัง พบว่า หุ้นที่มีกำไรเติบโตต่อเนื่อง 5 ปีติดต่อกัน คือ BAY, Tisco ส่วนหุ้นธนาคารอื่นๆ จะมีกำไรมากน้อยสลับกันไปในแต่ละปี และหุ้นขนาดกลางยังสามารถทำผลงานได้เติบโตมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่ๆ ส่วนในบางตัวหุ้น CIMBT ปีก่อนหน้าขาดทุน จึงทำให้ปีนี้บวกขึ้นมาแรง เมื่อเทียบกำไรเป็นปีต่อปี ต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อหุ้นกลุ่มธนาคาร คือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติ ณ ปัจจุบันนี้กำหนดไว้อยู่ที่ 1.50 % หากมีการเปลี่ยนแปลงดอกเบี้ยนโยบาย อาจจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินของแต่ละธนาคารได้ ถ้าดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้น กลุ่มธนาคารจะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 

เรียบเรียงโดย Freedom VI

ขอบคุณรูปภาพจาก : Aspen


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง