#แนวคิดด้านการลงทุน

Future of Money (ตอนที่ 1): ใครๆ ก็ให้กู้ได้

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
80 views

Future of Money (ตอนที่ 1): ใครๆ ก็ให้กู้ได้

นับวันเทคโนโลยียิ่งเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตคนเรามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราไม่เคยนึกมาก่อน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ของเรากับ “เงิน  ที่ได้เปลี่ยนไปแล้วอย่างน่าตกใจ 

จากเคยใช้เงินสดสู้การใช้ QR  code  จากแต่งตัวเดินไปธนาคารสู่โอนเงินผ่านแอพในชุดนอน  หรือแม้กระทั่งจากที่ใช้เงินสกุลท้องถิ่นแสนคุ้นเคยสู่การใช้เงินคริปโต

 

บทความซีรี่ย์ Future of Money จะหยิบมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับเงินที่กำลังเปลี่ยนไปมาเล่าให้ผู้อ่านฟังกันครับ

ตอนที่ 1: โลกที่ใครๆ ก็ให้กู้ได้

 

หนึ่งในมิติฟินเทคที่น่าตื่นเต้นที่สุดก็คือการให้กู้ยืมเงิน (lending)

โดยพื้นฐานแล้วมันเป็นบริการธนาคารดั้งเดิมที่ทำการสร้างกำไรจากส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้กับต้นทุนของการหาเงินก้อนที่เอาไปปล่อยกู้ เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก

ในอดีต การให้กู้ยืมเงินมักถือเป็นบริการจำพวกที่ต้องเป็นสถาบันการเงินเท่านั้นถึงจะทำได้ดีใน scale ขนาดใหญ่ เหตุผลหลักๆ เป็นเพราะสถาบันการเงินอยู่ในจุดที่เหมาะกับการให้กู้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเพราะเป็นศูนย์กลางของกระแสเงินสดของคนจำนวนมากในสังคม หรือเพราะมี know-how และข้อมูลพฤติกรรมทางธุรกรรมจำนวนมาก จึงมีความสามารถที่จะให้กู้ได้ด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำ (เนื่องจากต้นทุนต่ำ)  โดยรักษาอัตราหนี้เสียไม่ให้สูงเกินไปได้

แต่ในปัจจุบัน นวัตกรรมทางการเงินและความก้าวหน้าในเทคนิควิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกจาก Big Data กำลังทำให้บริการกู้ยืมเงินกลายเป็นกิจกรรมที่อีกไม่นานใครๆ ก็สามารถทำได้ 

จะเรียกว่าเป็นการ democratize ธุรกิจนี้ไปสู่ผู้เล่นอื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจก็คงไม่ผิดนัก

 

ผู้เขียนมองว่าเราสามารถแบ่งผู้เล่นใหม่ๆ ในพื้นที่นี้ออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักๆ ด้วยกัน

กลุ่มแรกคือธุุรกิจประเภท peer-to-peer lending  อย่าง Lending Club และ Prosper สองบริษัทประเภท peer-to-peer lending แถวหน้าที่ไม่ทำตัวเป็นผู้ให้กู้โดยตรง  แต่ทำตัวเป็นเหมือน match-maker เชื่อมผู้กู้กับผู้ให้กู้แล้วเก็บค่าบริการแทน

 

จุดขายก็คือบริษัทเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาในยุค internet จึงเน้นประสิทธิภาพของ platform ไม่มีกองทัพพนักงานหรือสาขาต้องดูแลมากมายนัก  จึงมี operating cost ต่ำกว่าสถาบันการเงินทั่วไป ดังนั้นพวกเขาจะสามารถคิดอัตราดอกเบี้ยได้ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังไม่จำเป็นต้องเก็บค่าธรรมเนียมมากมายเหมือนกับที่สถาบันการเงินมักเก็บทุกครั้งที่มีการสมัครสินเชื่อ  จึงเป็นที่น่าดึงดูดสำหรับทั้งผู้กู้ที่อยากได้ตัวเลือกเพิ่มจากสถาบันการเงินและผู้ให้กู้ที่อยากได้ช่องทางการลงทุนกับหลักทรัพย์ประเภทใหม่

กลุ่มที่สองคือธุรกิจประเภท digital lending ที่นอกจากจะมีจุดขายที่มี operating cost ต่ำแบบเดียวกับธุรกิจยุค internet ทั่วไปแล้ว ยังมีอีก 3 จุดขายที่ตอบโจทย์ลูกค้ารุ่นใหม่ด้วย นั่นก็คือ 1) ความเร็วในการอนุมัติเงินกู้ 2) ความแฟร์ในการให้บริการ และ 3) ความง่ายในการสมัครสินเชื่อ  ซึ่งสามจุดนี้ไม่ใช่อะไรที่จิ๊บจ๊อยเลย  คนรุ่นใหม่ (โดยเฉพาะในโลกตะวันตก) นั้นเบื่อหน่ายกับระบบเดิมๆ ของสถาบันการเงินที่เต็มไปด้วยเอกสารกับการรอแล้วรออีก บวกกับสถาบันการเงินในหลายประเทศก็มีภาพพจน์ที่ไม่ค่อยดีนักหลังจากวิกฤตช่วงปี 2008 

 

หากพูดถึงความเร็ว Q-cash บริษัทฟินเทคที่ถนัดให้กู้ทีละก้อนเล็กๆ นั้นสามารถอนุมัติเงินกู้ได้แทบจะทันทีหลังจากที่คุณกดยื่นใบสมัครสินเชื่อเสร็จผ่านระบบออนไลน์

หากพูดถึงความง่าย Avant บริษัทฟินเทคที่เน้นสินเชื่อส่วนบุคคลนั้นได้ดีไซน์ระบบการสมัครที่แทบจะไม่เหลืออะไรที่ต้องทำออฟไลน์เลยอีกทั้งถ้าได้รับการอนุมัติคุณจะสามารถรับเงินได้เลยภายในวันรุ่งขึ้น

หากพูดถึงภาพลักษณ์ที่แฟร์ต่อผู้บริโภค SoFi เป็นบริษัทฟินเทคที่เจาะตลาด student loan หรือสินเชื่อประเภทที่ลูกค้ากลุ่มที่มีการศึกษาดี มีงานดีและอายุยังไม่มากมักสนใจ   พวกเขาสลัดคราบ “ธนาคารหน้าเลือด” ออกไปได้หมด และสร้างภาพลักษณ์ใหม่อย่างเอาใจใส่ โดยการสื่อสารต่อลูกค้าเสมอว่าพวกเขาต้องการทำให้ career ของลูกค้า (ผู้กู้) ดีขึ้น และจะทำทุกวิถีทาง (จัดกิจกรรม คอร์สอบรม networking อีเวนต์ ฯลฯ) เพื่อให้ลูกค้าเหล่านี้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานจนพวกเขาสามารถคืนเงินได้ครบถ้วนตามกำหนด!

 

อนาคตของธุรกิจ Lending

 

ดูเหมือนว่าความสัมพันธ์ของเรากับเงินคนอื่นจึงกำลังจะเปลี่ยนจาก “เรายืมเงินสถาบันการเงิน” มาเป็น “เรายืมเงินคนกันเอง” ที่ง่าย เร็ว แฟร์ สมเหตุสมผล และหวังดีต่อเรา โดยที่บางที่ไม่ต้องทราบด้วยซ้ำว่าคนรู้ใจคนนี้เป็นใครมาจากไหน

ทว่าถึงกระแสฟินเทคสาย lending จะมาแรง ก็ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะไปได้สวย

ในปีที่ผ่านมาหุ้นของบริษัท Lending Club ซึ่งถือว่าเป็นแนวหน้าของธุรกิจประเภท peer-to-peer lending ร่วงหล่นหาที่สิ้นสุดมิได้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาภายในทีมผู้บริหารหรืออัตราหนี้เสียกับอัตรา prepayment ที่เพิ่มขึ้นจนน่ากังวล

ท้ายสุดแล้วอนาคตของการกู้ยืมจะเดิมพันอยู่กับสองปัจจัยหลักๆ

 

หนึ่งคือความเก่งกาจในการบริหารข้อมูล Big Data เพื่อใช้ช่วยตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยและเพื่อสร้าง credit score ขึ้นมา  เนื่องจากโจทย์หลักในธุรกิจนี้เป็นปัญหาเชิงข้อมูล หากมีข้อมูลดีมากพอและกว้างพอและมีบุคลากรที่ใช้ประโยชน์จากมันได้ ปัญหาเหล่านี้จะคลายตัวลงเอง

 

ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตามองต่อไปคือการใช้ข้อมูลรูปแบบใหม่ๆ นอกเหนือจากข้อมูลธุรกรรมเดิมๆ  มาใช้เสริมการตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ยและการอนุมัติเงินกู้สำหรับธุรกิจนี้ อย่างที่บริษัท ELF พยายามใช้ข้อมูลจิตวิทยาของผู้กู้มาช่วยพยากรณ์โอกาสเกิดหนี้เสีย  หรือบริษัท Kabbage ที่เอาข้อมูลออนไลน์มหาศาลตั้งแต่ข้อมูลรีวิวจากลูกค้า ออร์เดอร์สั่งของ ฯลฯ จากเว็บไซต์ขายของออนไลน์ เช่น ebay และ amazon เพื่อปล่อยกู้ให้กับร้านค้าที่อาจจะถูกสถาบันการเงินปฏิเสธมา

 

สองคือการควบคุมโดยภาครัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังเป็นประเด็นที่กำกวมว่าบริษัทไหนถึงจะสามารถให้บริการ lending แบบใหม่ๆ ได้ และบริษัทเหล่านี้จะตกอยู่ในการควบคุมของหน่วยงานใด

 

หากมีสัญญานดีสำหรับสองปัจจัยนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผู้เขียนมองว่าการมาของธุรกิจ lending สายพันธ์ใหม่เป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม เนื่องจากมันเป็นการเปิดโอกาสให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงทุนได้รวดเร็วขึ้น ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง และมีโอกาสเกิดหนี้เสียน้อยลง การมองจากอีกมุม ผู้มีทุนหรือผู้ให้กู้รายย่อยเองก็จะมีทางเลือกมากขึ้นในการเอาทุนของตัวไปหมุนให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง