MAJOR ธุรกิจบนความท้าทายในยุคอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง !!
ที่มาภาพ : รายงานประจำปี 2559 MAJOR
บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) หรือ MAJOR ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์ ธุรกิจโบว์ลิ่งและคาราโอเกะ ธุรกิจลานสเก็ตน้ำแข็ง ธุรกิจพื้นที่เช่า ศูนย์การค้า ธุรกิจการสร้าง การจัดจำหน่ายภาพยนตร์ และธุรกิจบริการสื่อโฆษณา เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจรเลยทีเดียว
ธุรกิจสายบันเทิงเป็นธุรกิจที่อยู่คู่กับมนุษย์มาอย่างยาวนาน และเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนที่ทำงานเพื่อต้องการเงิน โดยนำเงินนั้นมาแลกกับสิ่งจรรโลงใจ อิ่มใจ และหุ้น MAJOR เองก็ "อาจจะ" เป็นธุรกิจ Mega Trend ในอนาคต
แต่อย่างไรก็ตาม การเข้ามาของอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง คนสามารถสร้างโรงภาพยนตร์เล็กๆในส่วนใดของบ้านได้อย่างง่าย อีกทั้งการเข้ามาของธุรกิจ Movie Steaming หรือ Video on demand ก็ถือเป็นคู่แข่งของ Major อย่างหลีกเลี่ยงไมได้เช่นเดียวกัน เมื่อมนุษย์สามารถดูหนังจากทางบ้านได้ด้วยงบที่ประหยัดกว่า ทำไมถึงต้องเลือกที่จะไปดูหนังในโรงภาพยนตร์ ที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายสูงมากด้วยละ ?
MAJOR ถือเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในอุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2538 โดยคุณวิชา พูลวรลักษณ์ ในรูปแบบ Standalone อาคาร 7-10 ชั้นจากการเช่าที่ดินระยะยาว 30 ปี โดยมีการแบ่งพื้นที่ให้เช่าสำหรับร้านค้า ร้านอาหารที่มีให้เลือกมากมาย อีกทั้งอาคารห้างลักษณะนี้ยังมีน้อยมาก คนจึงนิยมไปเดินเที่ยวกันส่งผลให้อัตราเช่าพื้นที่สูงถึง 90% มาโดยคลอด ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อรูปแบบอาคาร Standalone มาเป็นห้างเอสพลานาด สิ้นปี 2559 มีทั้งหมด 5 สาขา
ต่อมาในปี 2547บริษัทได้เข้าไปทำธุรกิจไลฟ์สไตล์มอลล์โดยร่วมลงทุนกับสยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ หรือ SF ถือเป็นการแตกไลน์ธุรกิจใหม่ให้เข้าถึงชุมชนมากขึ้น ตั้งอยุ่ใจกลางเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ Major ยังได้ควบควมกิจการกับ บมจ.อีจีวีเอ็นเตอร์เทนเมนท์ เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดและขยายธุรกิจอย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน MAJOR มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า 70% มีสาขาทั้งสิ้น 113 สาขา 678 โรงภาพยนตร์ มีที่นั่งมากถึง 1.6 แสนที่นั่ง ทั้งในและต่างประเทศ
บริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะขยายสาขาเพิ่มอีกปีละ 50-80 โรง ครอบคลุมทั่วประเทศ มีโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัย มีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างเพื่อเพิ่มอรรถรสของลูกค้าเช่น เทคโนโลยี 3D 4D, IMAX ระบบเสียงที่ชัดเจนมีคุณภาพ การออกแบบสถานที่โดนใจวัยรุ่น การบริการระดับ VIP ที่มีห้องสำหรับนั่งพักผ่อนก่อนเข้าชมภาพยนตร์ เครื่องดื่ม อาหารระหว่างชม
ธุรกิจ Sport and Entertainment อย่างโบว์ลิ่ง ลานเสก็ตน้ำแข็ง"ซับซีโร่" และคาราโอเกะ มีการขยายสาขาอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยและขยายไปยังกัมพูชา ปัจจุบันมีเลนโบว์ลิ่ง 290 เลน ห้องคาราโอเกะ 174 ห้อง และลานน้ำแข็ง 5 ลาน ในปี 2551 บริษัทได้ร่วมทุนกับ PVRL ในอินเดียเปิดธุรกิจ Sport and Entertainment ปัจจุบันได้ขายธุรกิจออกไปแล้ว ...
ธุรกิจพื้นที่ให้เช่า ปัจจุบันมีพื้นที่ให้เช่าปะมาณ 5 หมื่นตารางเมตร อัตราการเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 90%
ธุรกิจสื่อโฆษณา หรือ "Cinemedia" ถือเป็นธุรกิจที่น่าสนใจเพราะอัตรากำไรอยู่ในระดับสูงมากประมาณ 85% อีกทั้งยังเป็นการโฆษณาที่มีประสิทธิภาพ ปัจจุบันทาง MAJOR มีฐานลูกค้าปีละ 25-30 ล้านคน
ธุรกิจอื่นๆ ได้แก่ธุรกิจที่ร่วมลงทุน พันธมิตรทางธุรกิจ เช่น สยามฟิวเจอร์ดีเวลอปเมนท์ ไทยทิคเก็ตเมเจอร์ กองทุนอสังหา MJLF
กลับมามองที่งบการเงินกันบ้าง ... สินทรัพย์รวมและหนี้สินรวมของบริษัทในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปน้อยมาก โดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทมีการลงทุนขยายสาขาเพิ่มทำให้สินทรัพย์เพิ่ม หนี้สินก็เพิ่มตามไปด้วย ส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มตามกำไรสะสมของบริษัทที่ทำได้
สรุปงบแบบย่อ MAJOR
ที่มาภาพ : SET.or.th
รายได้รวมของบริษัท
ในปี 2556 บริษัทมีรายได้ 8.2 พันล้าน มีกำไรสุทธิ 1.05 พันล้าน
ในปี 2557 บริษัทมีรายได้ 9 พันล้าน มีกำไรสุทธิ 1.08 พันล้าน
ในปี 2558 บริษัทมีรายได้ 9.2 พันล้าน มีกำไรสุทธิ 1.17 พันล้าน
ในปี 2559 บริษัทมีรายได้ 9.5 พันล้าน มีกำไรสุทธิ 1.18 พันล้าน
บริษัทมี Gross Margin อยู่ประมาณ 35-37% และ Net Margin ประมาณ 12-14% ถือว่าอยู่ในระดับที่พอรับได้
อัตราส่วน ROE อยู่ประมาณ 17 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน D/E ประมาณ 1.2 เท่า
ปัจจุบัน MAJOR มีค่า P/E และ P/Bv อยู่ที่ 24 เท่า และ 4.5 เท่าตามลำดับ ปันผลอยู่ประมาณ 3.5% ในปี 2560 ราคาหุ้น MAJOR ลงมาระดับหนึ่ง เมื่อคิดจากปันผลของปี 2560 ใช้ในการเทียบ MAJOR จะมีอัตราปันผลอยู่ที่ประมาณ 4% ถือว่าสูงพอสมควร อย่างไรก็ตามนี้เป็นข้อมูลย้อนหลัง ไม่สามารถบอกได้การจ่ายปันผลของ MAJOR จะดีอย่างนี้ได้หรือไม่ในอนาคต
สัดส่วนรายได้ MAJOR
ที่มาภาพ : รายงานประจำปี 2559 MAJOR
ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา MAJOR ถือเป็นหนึ่งในหุ้นที่รับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจได้ดีในระดับหนึ่ง โดยบริษัทสามารถรักษาการเติบโตของกำไรไว้ได้ทุกปี แม้จะเป็นการเติบโตที่ไม่สูงนัก บริษัทอาจจะยังค้นหา "การเติบโต" หรือ "S-Curved" รอบใหม่
การเร่งขยายสาขาและการรุกไปยังต่างประเทศจะสามารถตอบโจทย์ได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามกันต่อไป เราอย่าลืมว่าในปัจจุบันเราสามารถสร้างห้องดูหนังส่วนตัวที่บ้านได้โดยใช้พื้นที่ไม่มาก ราคาไม่แพง อีกทั้งการเข้ามาของ Video on demand จำนวนมากที่เข้ามาเป็นคู่แข่งของ MAJOR ก็พยายามที่จะแย่งกลุ่มลูกค้าผู้รักการดูหนังในโรงภาพยนตร์ให้ดูหนังในบ้านได้ ด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่า(มาก)
ตัวอย่างเช่น ค่ายยักษ์ใหญ่จากอเมริกาอย่าง NETFLIX ที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในปี 2011 บริษัทเริ่มรุกไปต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้มากขึ้น รวมถึงประเทศไทยที่เข้ามาทำตลาดอย่างจริงๆจังๆในช่วงต้นปี 2017 ปัจจุบัน NETFLIX มีฐานผู้ใช้บริการแตะระดับ 100 ล้านคนจากทั่วโลก
จำนวนผู้ใช้ NETFLIX ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆทุกปี
ที่มาภาพ : statista.com
Iflix ก็ถือเป็นอีกค่ายที่น่าสนใจ การเข้ามาทำตลาดอย่างหนักและเพิ่มคอนเทนต์ที่น่าสนใจอย่างต่อเนื่องเปิดเผยว่า โดยปัจจุบันมีสถิติการรับชมของ Iflix ในไทย ดังนี้
- มีสมาชิกในประเทศไทยรวมกว่า 1 ล้านราย
- รับชม Iflix เฉลี่ยถึง 135 นาทีต่อวัน
- ส่วนใหญ่สมาชิก Iflix ในประเทศไทย 66% อายุ 18 – 34 ปี โดยแบ่งเป็น 39% เป็นกลุ่มเจน วาย และ 27% เป็นกลุ่มมิเลเนี่ยล
- ส่วนมากนิยมดูไอฟลิกซ์ผ่านมือถือ และ แท็บเล็ต 69%
- มักดูในช่วงเวลาตั้งแต่ 21.00 น. – 01.00 น.
- คนดูชอบรับชมคอนเทนต์กลุ่มดราม่า, เกาหลี, คอมเมดี้, แอคชั่น และไทย (ตามลำดับ)
ที่น่าสนใจ คือ ค่าใช้จ่ายไม่แพงเลยนั้นคือ ราคาเดือนละ 100 บาทต่อเดือน
ถือเป็นความท้าทายของ MAJOR ครับ......
ข้อมูลที่น่าสนใจจาก Iflix ประเทศไทย
ที่มาภาพ : brandage.com
กลับมามองความเห็นของนักวิเคราะห์
บล.เอเชีย เวลท์ มีความเห็นว่าอุตสาหกรรมโฆษณาปี 2561 มีแนวโน้มฟื้นตัว น่าจะกลับมาแตะระดับ 1 แสนล้านบาท โต 10% หลังชะลอตัวมาแล้ว 2 ปีซ้อน มองเป็นบวกกับกลุ่มสื่ออย่าง PLANB, VGI, MAJOR ที่เน้นสื่อนอกบ้านเป็นหลัก
บล. ฟิลิป วิเคราะห์ว่าไตรมาส 4/60 ยังมองบวกจากหนังฟอร์มยักษ์เข้าฉาย ตั๋วชมภาพยนตร์และรายได้จากอาหารเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น แต่รายได้จากโฆษณาลดลง ภาพรวมในปีหน้า 2561 จะมีการเพิ่มโรงภาพยนตร์อีก รวมถึงจัดสรรหนังในแต่ละไตรมาสให้เหมาะสม คงคำแนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเหมาะสม 39.25 บาท
บล.เคจีไอ แสดงความเห็นว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/60 ไม่ประทับใจ แต่จะกลับมาดีขึ้นในไตรมาส 4/60 จากที่หนังฟอร์มยักษ์เข้าฉาย ในปี 2561 มองบวกจากการเติบโตที่แข็งแกร่ง และเงินปันผลในระดัย 4.2% ต่อปี คงคำแนะนำ "ซื้่อ" โดยให้ราคาเหมาะสมที่ 37.75 บาท
บล. ทิสโก้ แสดงความเห็นว่า หุ้น MAJOR ยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ๆ โดยมีความเสี่ยงคือเศรษฐกิจที่อ่อนแอ, ไม่มีภาพยนตร์ที่น่าสนใจ และความล่าช้าในการขยายสาขา คำแนะนำ "ถือ" ให้ราคาเหมาะสม 33 บาท
ต้องยอมรับว่า MAJOR เป็นหุ้นที่มีธุรกิจน่าสนใจ พื้นฐานดี และราคาหุ้นก็ไม่ผันผวนมากนักเมื่อเทียบกับ SET แต่ปัญหาใหญ่ของบริษัท คือ การเติบโตที่ทำให้นักลงทุนมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงการอยู่บนสมรภูมิศึกในยุคดิจิตอลที่เข้ามากินส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น NETFLIX, IFLIX, Hollywood HD, PRIMETIME,และ MONOMAXX ของคนไทย ถือเป็นความท้าทายครั้งใหม่ของตัวธุรกิจ ผู้บริหาร และตัวผู้ถือหุ้นเองที่จะมองขาดหรือไม่ หรือจะเลือกทิ้งไปแล้วไปหาหุ้นตัวอื่นลงทุนแทน .. ?
---------------------
เขียนโดย : SiTh LoRd PaCk
แหล่งข้อมูล
รายงานประจำปี 2559 บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน)
https://www.set.or.th/set/companyhighlight.do?symbol=MAJOR&ssoPageId=5&language=th&country=TH
http://stock.gapfocus.com/detail/MAJOR/news
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/784794
https://www.thunhoon.com/major-81/
http://portal.settrade.com/brokerpage/IPO/Research/upload/2000000330193/Daily%20Story_MAJOR_2017_11_13_thai.pdf
http://www.hooninside.com/news-detail.php?id=747270
http://www.hooninside.com/news-detail.php?id=747270
https://www.statista.com/chart/7677/netflix-subscriber-growth/
https://brandinside.asia/iflix-video-on-demand-2017/
http://www.brandage.com/article/458/Iflix-
https://www.efinancethai.com/LastestNews/index.aspx?ref=P&id=SYHOhRfwv1A=&year=2017&month=6&lang=T