#แนวคิดด้านการลงทุน

Bitcoin เข้าภาวะฟองสบู่หรือยัง ?

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
99 views

Bitcoin เข้าภาวะฟองสบู่หรือยัง?

 

ในหนึ่งปีที่ผ่านมาราคาของ Bitcoin ขึ้นมากว่า 900% (ศูนย์สองตัว)  ขณะนี้ราคาขึ้นมาแตะที่ระดับ 1 หมื่นดอลลาร์ต่อ 1 BTC  แล้ว  ทำให้ market capitalization ของ Bitcoin เท่ากับ 175 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ  หรือราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ไทยปีที่แล้วเลยทีเดียว

 

มูลค่าของเงินดิจิทัลที่สัมผัสไม่ได้ ที่เคยไร้ค่า  ตอนนี้พอๆ กับเกือบครึ่งของ GDP ประเทศไทย

 

หลายคนเห็นราคาแบบนี้แล้วจึงสงสัยว่า  “เขาซื้อ Bitcoin กันไปทำไม” และ “มันเป็นฟองสบู่หรือเปล่า?” “ทำไมถึงมีคนคิดว่าจะยังวิ่งไปได้อีก”

 

จะตีมูลค่า Bitcoin อย่างไร

 

คำถามที่ว่า Bitcoin กำลังอยู่ในสภาวะฟองสบู่หรือไม่ เป็นอะไรที่ตอบได้ยาก 

 

อย่างที่ผู้เขียนเคยเขียนไว้เกี่ยวกับภาวะฟองสบู่ (https://www.stock2morrow.com/article-detail.php?id=907) การที่เราตีมูลค่าที่แท้จริงของ Bitcoin ได้ลำบาก ทำให้เราฟันธงไม่ได้ว่าขณะนี้มันเป็นฟองสบู่ไปแล้วหรือยัง มัน overvalued ไปแล้วแค่ไหน

 

เนื่องจากนี่เป็นกรณีแรกๆ ในยุค cryptocurrency และจะมีเงินสกุลดิจิทัลใหม่ๆ มาให้เราประเมินมูลค่ากันอีกแน่ จึงเป็นแบบฝึกหัดน่าคิดว่าถ้า Bitcoin มีมูลค่าที่แท้จริง มันจะถูกกระทบโดยปัจจัยใดบ้าง และเราควรจะตีมูลค่ามันเหมือนมันเป็นสินทรัพย์ทั่วไปไหม หรือตีมูลค่าเหมือนสกุลเงินที่เราใช้จ่ายกันอยู่ทุกวันนี้ 

 

 

อันดับแรก เราตีมูลค่า Bitcoin แบบสินทรัพย์ (asset) ปกติไม่ได้  เนื่องจากทุกวันนี้มันไม่ได้สร้าง cash flow ใดๆ และยังไม่มีแผนสร้าง cash flow ใดๆ ในอนาคต  ต่างกับเงินสกุลดิจิทัลบางสกุลที่เรายังพอวาดภาพได้ว่าในอนาคตมันจะขยายเข้าไปกินตลาด payment system ที่มี Mastercard หรือ Visa ครองตลาดอยู่

 

อันดับที่สอง จะว่า Bitcoin เป็น เงินอย่างที่ผู้สร้าง Satoshi วางแผนไว้ก็มีหลายจุดที่ขัดกับนิยามและหน้าที่ของการเป็น เงิน” (medium of exchange)

 

จุดแรกคือ Bitcoin จะเป็นเงินได้ก็ต่อเมื่อมันคงคุณค่าได้ดี (store of value) ซึ่งในประเด็นนี้ถึงแม้ว่า Bitcoin จะมีมูลค่าต่อสกุลอื่นสูงขึ้นเรื่อยๆ  แต่มันมากับความผันผวนที่สูงกว่าเงินสกุลปกติที่เราใช้จ่ายกันมาก   อีกทั้งการที่คุณค่าของมันสามารถลดลงหรือพุ่งขึ้นทีเป็นสิบเปอร์เซ็นต์ในเพียงพริบตา หรือมีโอกาส “สิ้นค่า” เมื่อถูกแฮก โดยที่ไม่มีใคร ไม่มีรัฐบาลใดๆ มาช่วยการันตีให้ ทำให้มันสอบตกในประเด็นนี้

 

 

จุดที่สอง Bitcoin ไม่ได้เป็นเงินดิจิทัลที่เราใช้มันจับจ่ายใช้สอยได้สะดวกที่สุด  หากพูดถึงความง่ายในการใช้งานเพื่อทำธุรกรรม  เงินดิจิทัลสกุลน้องใหม่อย่าง Dash ตอบโจทย์นี้ได้ดีกว่ามาก ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของเวลาในการทำให้ธุรกรรมเสร็จสิ้นหรือค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม (รูปด้านบน) ก็ตาม

 

แล้ว Bitcoin มันเป็นอะไร?

 

ผู้เขียนคิดว่า Bitcoin เป็นสินค้า hybrid ที่เป็นลูกผสมระหว่าง เงินและคอมมอดิตี้ (สินค้าโภคภัณฑ์) ที่มีปัจจัยกระทบอุปสงค์​และอุปทานที่เป็นเอกลักษณ์​ของตนเอง

 

ในมุมมองของอุปทาน Bitcoin มีเส้นทางค่อนข้างชัดเจน  มีเหรียญจำนวนจำกัด และมีการคาดการณ์ว่าเมื่อไหร่เหรียญสุดท้ายจะถูกขุดพบ

 

ในทางกลับกันอุปสงค์ของ Bitcoin ซับซ้อนและมีความไม่แน่นอนกว่ามาก

 

สิ่งหนึ่งที่เป็นตัวผลักดันอุปสงค์​ของ​ Bitcoin​ ก็คือความหวังที่มันจะกลายเป็นเงินดิจิทัลสกุลหลักในโลก cryptocurrency​ ต่อไป​ ไม่ว่าจะมี​สกุลดิจิทัลใหม่ๆ​ ออกมามากน้อยแค่ไหน

 

อาจจะไม่ได้เป็นสกุลหลักที่เอาไว้ใช้ซื้อของทั่วไป​ แต่เป็นอย่างที่ดอลลาร์เป็นในการ​ settle การค้าในระบบเศรษฐกิจโลก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อ Bitcoin เป็นสกุลดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากที่สุด  มีฐานใหญ่ที่สุดในขณะนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่ามันจะยังคงเป็นเสาหลักของ การมี ICO ในอนาคต และจะมีส่วนร่วมกับทุกกิจกรรมใหม่ๆ​ ในโลก​ cryptocurrency

 

นี่คือหนึ่งในคุณประโยชน์​ของการถือ​ Bitcoin​ ในระยะยาว​ คือเป็นการเข้าไปเอา​ exposure ของโลก cryptocurrency ตั้งแต่เนิ่นๆ​ ซึ่งผู้เขียนเองมองว่ามันจะเป็น​ alternative investment ที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในโลกที่ยีลด์ต่ำ​

 

ในเมื่อความหวังนี้เป็นความหวังอันยิ่งใหญ่ที่ยังไม่มีใครทราบด้วยซ้ำว่าโลก​ cryptocurrency​ ในอนาคตจะมีหน้าตาอย่างไร​ หรือมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ​เท่าไร​ จึงทำให้ราคา​ Bitcoin​ มีโอกาสเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อย​ๆ​ 

 

สุดท้ายนี้​ สำหรับผู้อ่านที่สนใจลงทุนใน​ Bitcoin​ ก็ขอให้ท่านระมัดระวัง​ คอยมองหาสัญญาณ​ “ปาร์ตี้จะเลิกรา”  เช่น​ เมื่อรัฐบาลเริ่มเข้มงวดขึ้นกับการควบคุมเงินดิจิทัลนะครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง