ซื้อหุ้นเมื่อเบรคไฮ ความเชื่อที่ใช้(ไม่)ได้จริง ?
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า Trade Setup หรือระบบในการเข้าซื้อหุ้นของเหล่านักเทคนิคอลกราฟส่วนใหญ่ มักเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาทะลุแนวต้านที่ไฮเดิม (Breakout) หลายคนอาจใช้ความรู้เรื่องโวลุ่มที่เพิ่มสูงขึ้น มาประกอบการพิจารณาเพื่อช่วยยืนยันว่าราคาที่วิ่งขึ้นปะทะไฮเดิมนั้น มีโอกาสเบรคขึ้นจริงหรือไม่
ประเด็นที่น่าสนใจคือ…
จริงหรือไม่? ทุกครั้งที่เราเข้าซื้อหุ้นด้วยสัญญาณเบรคเอ้าท์ (Break out) นั่นคือการเทรดด้วยวิธี “แบบวัดดวง” เนื่องจากเราแทบไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าการซื้อหุ้นจากการเบรคในครั้งนั้น จะเป็นการเบรคจริงหรือเบรคหลอก ถ้าเป็นการเบรคจริงก็โชคดีไป
… แต่ถ้าเป็นการเบรคหลอก ก็ต้องมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ด้วยวิธีแนวคิดแบบเดิมๆถ่ายทอดบอกต่อกันมาว่านั่นคือวิธีที่แก้ปัญหาที่ดีที่สุด คือ การคัทลอส (Cut loss)
Cut loss คือสิ่งจำเป็นที่เราปฏิเสธไม่ได้เมื่อเทรดผิดทาง แต่ Cut loss อย่างไรให้มีเหตุและผลรองรับคือสิ่งที่สำคัญกว่า “เคยไหมครับ Cut loss ทีไรหุ้นวิ่งขึ้นสวนกลับทุกครั้งเลย”
เพราะทำไม ?
เพราะเราไปยึดติดกับการ Cut loss โดยใช้ความรู้สึกส่วนตัวที่ยอมรับการขาดทุนได้ในแต่ละครั้งเป็นที่ตั้ง มากกว่าการ Cut loss จากเหตุและผลของทรงกราฟเทคนิค
ตัวอย่างเช่น เราซื้อหุ้นและจะ Cut loss เมื่อราคาปรับตัวลงมากกว่า 3% แต่หารู้ไม่…การย่อตัวลงของราคาในช่วงนั้นอาจจะเป็นการปรับตัวของสถานะคลื่นปรับก็ได้ (Correction Wave) เมื่อปรับตัวจบก็จะวิ่งขึ้นสู่ Impulse Wave ทันทีนั่นเอง
ดังนั้นการ Cut loss จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงปริมาณในการตัดสินใจ จากเหตุและผลของทรงกราฟเทคนิค มากกว่าการ Cut loss โดยใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพ จากความรู้สึกส่วนตัวที่ยอมรับการขาดทุนได้
ย้อนกลับมาประเด็นหัวข้อเดิมกันอีกครั้ง การซื้อหุ้นด้วยวิธีแบบ Break out นั้นไม่ได้เป็นสิ่งการันตีเสมอไปว่าราคาเบรคแล้วจะวิ่งขึ้นได้จริง บางครั้งมีความเชื่อแบบผิดๆถ่ายทอดและสอนต่อๆกันว่าราคาจะเบรคแนวต้านได้หรือไม่นั้น จำเป็นต้องรอให้ตลาดเฉลยเสียก่อน หากซื้อเมื่อเบรคแนวต้านแล้วผลลัพธ์ไม่เป็นไปตามคาด ก็ Cut loss ซะ! แล้วมาเริ่มต้นกันใหม่…
แท้จริงแล้วเราสามารถวิเคราะห์และคาดกาณ์ล่วงหน้าได้ก่อนที่ตลาดจะเฉลย ว่าราคาที่วิ่งขึ้นปะทะแนวต้านนั้นจะเบรคผ่านหรือไม่
คอนเซ็ปต์ในการวิเคราะห์คือ พิจารณาชุดคลื่นใหญ่ที่กำลังโดยสังเกตคลื่นย่อยที่กำลังปะทะแนวต้านนั้นว่าเคลื่อนที่ครบสถานะคลื่น Impulse Wave แล้วหรือยัง
หากยังเคลื่อนที่ไม่ครบ …ก็มีโอกาสสูงที่ราคาจะวิ่งขึ้นทะลุเบรคแนวต้านนั้นได้
ยกตัวอย่างเช่น
แนวต้าน High เดิม ราคา 10 บาท ราคาปัจจุบัน 9 บาท และกำลังวิ่งขึ้นด้วยสถานะ Impulse Wave คลื่นที่ 3 ดังนั้นเราสามารถวิเคราะห์ได้ทันทีเลยว่า หากราคาวิ่งขึ้นปะทะแนวต้านที่ High เดิม จะเบรคผ่านอย่างแน่นอน เนื่องจากสถานะคลื่นที่วิ่งขึ้นนั้นยังเคลื่อนที่ไม่ครบวัฏจักรคลื่นนั่นเอง (ดูตัวอย่างจาก VDO บันทึกเทรดสด)
แต่ถ้าราคาปัจจุบันวิ่งขึ้นด้วยสถานะ Impulse Wave คลื่นที่ 5 คลื่นย่อยภายในคือคลื่น iii คุณคิดว่าราคาจะสามารถเบรคผ่านแนวต้าน High เดิมที่ราคา 10 บาท ได้หรือไม่ ?
คำตอบ สามารถเบรคผ่านได้ แต่การเบรคในครั้งนี้ สุ่มเสี่ยงมากที่จะการเป็นเบรคหลอก(Fault Break) เนื่องจากชุดคลื่นที่วิ่งขึ้น เคลื่อนที่ด้วยสถานะปลายคลื่น(คลื่น 5) แต่คลื่นย่อยภายในยังเคลื่อนที่ไม่ครบวัฏจักร(คลื่น iii) จึงส่งผลให้ราคาสามารถเคลื่อนที่ขึ้นได้อีกเล็กน้อย เพื่อวิ่งขึ้นให้จบครบสถานะปลายคลื่นของวัฎจักรนั่นเอง
สรุป …ราคาจะเบรคผ่านแนวต้านได้หรือไม่นั้น
เราจำเป็นต้องรู้สถานะคลื่นเอลเลียตของชุดคลื่นที่กำลังวิ่งขึ้น ว่าอยู่ในสถานะคลื่นใด มี Upside มากน้อยแค่ไหนเป็นต้น
Fault Break เกิดขึ้นได้อย่างไร ?
จากการศึกษาของผมพบว่า สาเหตุหลักของการเกิดเบรคหลอก หรือ Fault Break นั้น มักเกิดจาก 2 ปัจจัยดังต่อไปนี้
1. ราคาเคลื่อนที่เบรคแนวต้านด้วยสถานะปลายคลื่น Impulse Wave
2. ราคาเคลื่อนที่เบรคแนวต้านด้วยสถานะคลื่น Correction Wave โดยชุดคลื่นที่เบรคไฮเดิมนั้น คือคลื่นย่อยของ Correction
เช่น รูปแบบ Irregular Flat ที่ราคามีการเบรคไฮ(High) ด้วยสถานะคลื่น b และหลังจากนั้นก็เคลื่อนที่ลงหลุด Low ก่อนหน้าด้วยสถานะคลื่น c เพื่อปรับตัวให้จบสถานะคลื่นCorrection Wave ในรูปแบบ Irregular Flat แล้วหลังจากนั้นก็เคลื่อนที่เข้าสู่วัฏจักร Impulse Wave ถัดไป
นี่คือเหตุผล ว่าเพราะทำไมเวลาเราซื้อหุ้นเมื่อเบรค High จึงทำให้เราติดดอย ในขณะเดียวกันขายหุ้นเมื่อราคาหลุด Low หุ้นกลับวิ่งขึ้นซะอย่างนั้น !
แท้จริงแล้วเราไม่ได้ซื้อหุ้น ณ สถานะคลื่น Impulse Wave แต่เป็นการซื้อหุ้นในสถานะคลื่นปรับ หรือ Correction Wave นั่นเอง
ดังนั้น… อย่าหลับหูหลับตาซื้อหุ้นถ้าไม่ทราบสถานะคลื่นที่แท้จริง และจงระลึกเสมอว่า “เบรค High ได้เมื่อไหร่ ดอยลูกใหม่เกิดขึ้นทันที”
แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าราคาที่วิ่งขึ้นเบรคไฮเดิม จะเป็นสถานะ Impulse Wave หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Correction Wave ?
บทความหน้าผมจะมาเฉลยและแชร์เทคนิควิธีวิเคราะห์อย่างละเอียด ว่าชุดคลื่นที่วิ่งขึ้นทำ New High จะเป็นสถานะ Impulse Wave ที่ส่งผลให้เกิดการเบรคจริง หรือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Correction Wave ที่ส่งผลให้เกิดการเบรคหลอก … ติดตามบทความถัดไปนะครับ
VDO บันทึกการเทรดสดชุดที่ 109 จะสอนวิธีวิเคราะห์และข้อสังเกตต่างๆ ว่าราคาที่วิ่งขึ้นปะทะแนวต้านนั้นจะเบรคผ่านหรือไม่ มีเทคนิคพิจารณาอย่างไร รวมทั้งอธิบายและสรุปข้อผิดพลาดต่างๆจากการเทรดในครั้งนี้ด้วย
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------
สอน Elliott Wave เชิงลึก ฟรี!
งานสัมมนา “ เลิกมึน เลิกมั่ว เลิกมโน … Elliott Wave สักที! ” วันที่ 16 ธ.ค. 60
ทบทวนทฤษฎี Elliott Wave เชิงลึก + Workshop สอนนับคลื่นหุ้น 7 ชั่วโมงเต็ม !
ผมไปสอนให้ฟรี… กับเทคนิคดีๆที่ไม่เคยมีใครสอนคุณ
(มีค่าใช้จ่ายเฉพาะเอกสารและอาหาร) รายละเอียดคลิ๊ก