
แรงซื้อหุ้นพลังงานตามทิศทางรีบาวด์ของราคาน้ำมันโลก หุ้นรีเทลที่รับอานิสงส์ช้อปช่วยชาติ รวมทั้งแรงซื้อกลับกลุ่มสื่อสาร หนุน SET index ต้นสัปดาห์เขียวสดใส
จากนี้มาโฟกัสกันต่อที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกที่หลายตัวกลับมามี performance ราคาหุ้นโดดเด่น ตามกระแสคาดหวังรัฐบาลเตรียมไฟเขียวมาตรการ "ช้อปช่วยชาติ" ในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันอังคาร 7 พ.ย. ตามข้อมูลจากสื่อที่ระบุว่า ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปี เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ ให้ติดตามผลจากที่ประชุม ครม.วันที่ 7 พ.ย.นี้
สื่ออ้างแหล่งข่าวระบุว่า กระทรวงการคลังเตรียมนำมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ หรือ “ช้อปช่วยชาติ” มาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี 2560 ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยกำหนดเบื้องต้นว่า มาตรการปีนี้จะใช้เวลา 19 วัน ให้มีผลตั้งแต่ 15 พ.ย. จนถึง 3 ธ.ค. เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหรือ GDP ไตรมาส 4 และมีเม็ดเงินจากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่งเข้ารัฐภายในเดือน ธ.ค.นี้ โดยไม่ต้องเหลื่อมไปต้นปี 2561 เนื่องจากสรรพากรกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องนำส่ง VAT ภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันสิ้นเดือน
รายละเอียดของมาตรการจะเป็นไปในรูปแบบเดิม คือให้หักลดหย่อนรายจ่ายจากการซื้อสินค้า บริการ ร้านอาหาร ตั๋วเครื่องบินในประเทศไม่รวมแพ็กเกจทัวร์ ได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยต้องนำใบกำกับภาษีเต็มรูปแบบที่ร้านค้าออกให้มาใช้แสดง นอกจากนี้สินค้าและบริการที่นำมาลดหย่อนภาษีได้ จะต้องซื้อจากร้านค้าที่จดทะเบียน VAT กับกรมสรรพากร ไม่รวมสินค้าจำพวกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สุรา เบียร์ และไวน์) บุหรี่ ทองคำแท่ง (ส่วนทองรูปพรรณลดหย่อนได้เฉพาะค่ากำเหน็จ) การชำระค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ซื้อแพ็กเกจทัวร์ ซื้อประกันชีวิต ประกันภัยรถยนต์ ซื้อบัตรของขวัญของห้างสรรพสินค้า และอื่นๆ
คุณมงคล พ่วงเภตรา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ในประเด็นนี้ คุณมงคลบอกว่า ถ้าหากรัฐบาลประกาศใช้มาตรการช้อปช่วยชาติในปลายปีนี้ จะเป็นปัจจัยสนับสนุนเซนติเมนต์หุ้นกลุ่มค้าปลีกให้สดใสมากขึ้น จากปัจจุบันก็คาดว่าผลประกอบการกลุ่มค้าปลีกจะกลับมาขยายตัวชัดเจนตั้งไตรมาส 3 ต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส 4 ที่เป็นการเติบโตตามฤดูกาล ซึ่งแม้ว่าถ้าหากไร้มาตรการช้อปช่วยชาติ กำไรของกลุ่มค้าปลีกก็ถือว่ายังมีความน่าสนใจเช่นเดิม
คุณมงคล ตั้งข้อสังเกตว่า จากรายละเอียดมาตรการช้อปช่วยชาติจากสื่อที่ระบุว่าจะใช้เวลา 19 วัน ซึ่งมากกว่าครั้งแรกที่ใช้เมื่อปลายปี 2558 กินเวลา 7 วัน และปี 2559 เพิ่มเป็น 18 วัน ขณะรูปแบบยังคงเป็นไปแบบเดิม คือให้หักลดหย่อนรายจ่ายจากการซื้อสินค้า บริการ ร้านอาหาร ตั๋วเครื่องบินในประเทศไม่รวมแพ็กเกจทัวร์ได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ซึ่งถือว่าน้อยกว่าที่ทางเคทีบีฯ ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ ว่าจะออกมาเป็นแพ็กเกจใหญ่ แต่ก็ต้องมาติดตามกันต่อว่าคณะรัฐมนตรีจะอนุมัตมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายใดเพิ่มเติมนอกเหนือจากการลดหย่อนไม่เกิน 15,000 บาทหรือไม่
สำหรับหุ้นที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว เคทีบีฯ มองว่าได้แก่ :
กลุ่มห้างสรรพสินค้า อาทิ บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (HMPRO), บมจ.โรบินสัน (ROBINS), บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ซึ่งถือหุ้นใหญ่ BIGC, รวมทั้ง บมจ.ธนพิริยะ (TNP)
หุ้นที่เกี่ยวข้องกับสินค้าไอที อาทิ บมจ.คอมเซเว่น (COM7), บมจ.บิ๊ก คาเมร่า คอร์ปอเรชั่น (BIG) และกลุ่มท่องเที่ยวและอาหาร ได้แก่ บมจ.ดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW),บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL),บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล (MINT), และ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL)
"ถ้าหากมาตรการช้อปช่วยชาติออกมาลดหย่อนไม่เกิน 15,000 บาท ผมมองว่าดูจะน้อยไปซักนิดนึง เพราะเดิมคิดว่าจะออกมาเป็นแพ็คเกจใหญ่ แต่ถ้าเป็นเช่นนั้นคิดว่าน่าจะดีกับเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะปัจจุบันฐานะการคลังไม่ดีเหมือนกับในอดีต 2 ปีที่แล้ว และเงินส่วนใหญ่ต้องนำไปลงทุนในเมกะโปรเจ็กต์ จึงน่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่ามาตรการช้อปช่วยชาติ ที่รัฐบาลเองก็สูญเสียรายได้จากภาษี และการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ไม่ทั่วถึงหรือไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น แนวทางกระตุ้นโดยสูญเสียรายได้ไม่มากเป็นสิ่งที่ดี และนำไปใช้ลงทุนเมกะโปรเจ็กต์จะเป็นประโยชน์มากกว่าทั้งระบบเศรษฐกิจ รวมถึงความเชื่อมั่นต่างชาติที่จะเพิ่มขึ้น"
Money Channel ยังได้สอบถามความเห็นจากคุณวิชชุดา ปลั่งมณี ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คุณวิชชุดาเชื่อว่าหากมีมาตรการช้อปช่วยชาติเกิดขึ้น จะสร้างแรงกระตุ้นให้ราคาหุ้นกลุ่มค้าปลีก บรรยากาศซื้อขายสดใส ประกอบกับโค้งสุดท้ายของปีถือเป็นไฮซีซั่นทางธุรกิจ ขณะการจับจ่ายใช้สอยที่เติบโตตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจในประเทศ และฐานที่ต่ำจากปีก่อน ทำให้คาดว่ากำไรกลุ่มค้าปลีกไตรมาส 4/60 จะเติบโตโดดเด่น

ค่ายหยวนต้าฯ เลือกหุ้นเด่น คือ HMPRO (ราคาพื้นฐาน 14 บาท) และ ROBINS (ราคาพื้นฐาน 76.20 บาท) เพราะแนวโน้มยอดขายสาขาเดิม (SSSG)ในไตรมาส 3/60 กลับพลิกเป็นบวก เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/60 ที่ติดลบ และเชื่อมั่นว่าจะเห็นการเติบโตต่อเนื่องจนถึงไตรมาสสุดท้ายของปี
ในส่วนของ HMPRO แม้ว่าราคาหุ้นจะขยับขึ้นขึ้นมากว่า 20% YTD แล้ว แต่ทางหยวนต้าฯ มองว่าปัจจัยบวกในระยะถัดไปคือการเติบโตของไตรมาส 4 ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า อีกทั้งการควบคุมภายในของ HMPRO ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นบวกต่อความสามารถในการทำกำไร สะท้อนต่ออัตรากำไรขั้นต้นที่ขายสินค้าที่ขยับขึ้น และการควบคุมค่าใช้จ่ายได้คงที่ นอกจากนี้ บริษัทฯ คงกลยุทธ์เน้นประสิทธิภาพของการบริหารพื้นที่ในการขาย พร้อมใช้โมเดล "HMPRO S" เป็นตัวสร้างการเติบโตจากนี้ไป ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปี 2560 และ 2561 ถูกปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.8 พันล้านบาท และ 5.4 พันล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่มุมมองต่อ ROBINS นักวิเคราะห์หยวนต้าฯ มองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/60 ที่ยอดขายสาขาเดิมติดลบ 4.7% ทำให้ผลการดำเนินงานของ ROBINS จะทำระดับสูงสุดในไตรมาสสุดท้ายของปี จากความต้องการกลุ่มลูกค้าในตลาดกลาง-บนเริ่มฟื้นตัว และผลของ High season โดยประเมินว่ายอดขายสาขาเดิมปีนี้จะติดลบ 2.2% แต่จะพลิกกลับมาเป็นบวกราว 2% ได้ในปีหน้า
ในส่วนคำแนะนำ จากราคาหุ้น ROBINS ที่อ่อนตัวลง มองเป็นจังหวะเข้าสะสม ภายใต้ผลงานที่ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 4/60 ภายใต้ภาพรวมปีหน้าที่คาดว่าผลการดำเนินงาน ROBINS จะกลับมาเติบโตเด่นอีกครั้งที่ 12% จากปีนี้ที่เพิ่มขึ้นเพียง 5.6%
ฝั่งโบรกเกอร์ "เคจีไอ" นักวิเคราะห์มองมาตรการ “ช้อปช่วยชาติ” ที่คาดว่าจะมีการขยายระยะเวลาการช้อปปิ้งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน จะเป็นบวกต่อยอดขายสินค้าไอทีครบวงจรของ COM7 ที่มีครบทุกยี่ห้อทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน กล้องดิจิตอล และอื่นๆ
นักวิเคราะห์ให้ข้อมูลว่า Consensus ประเมินกำไรไตรมาส 3/60 จะเติบโตทั้งแบบ Y/Y และ Q/Q จากการเปิดธุรกิจใหม่เพิ่มเติม อาทิ ธุรกิจลีสซิ่ง ร้านมือถือหัวเว่ย/OPPO และการรุกขายสินค้าลูกค้าองค์กร เป็นต้น โดยราคาเป้าหมายเฉลี่ยใน Consensus ปรับขึ้นเป็น 16.20 บาท (เดิม 14.90 บาท) และเป้าหมายสูงสุดเป็น 19 บาท (เดิม 17.5 บาท)
--------------------------------
แหล่งที่มา : Money Channel