ADVANC TRUE - ถูกบีบให้เข้าประมูลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
2 พ.ย. 2560 / 15.50 น.
หุ้น ADVANC TRUE ปรับตัวตาม DTAC ลงมาด้วยในบ่ายวันนี้ หลัง กสทช ประกาศร่างการจัดการประมูลคลื่นความถี่เสร็จ (ตามที่เขียนไปในบทความที่ผ่านมา)
ไม่เพียง DTAC ที่จะประมูลคลื่นเอามาให้ได้ แต่ ADVANC กับ TRUE ก็เหมือนถูกบีบให้ต้องเข้าร่วมประมูลที่ราคานี้เช่นเดียวกัน จะไม่เอาก็ไม่ได้ เพราะการสะสมคลื่นยังไงก็ยังนับว่ามีความจำเป็น
รายจ่ายค่าประมูลที่จะเกิดขึ้น นักวิเคราะห์ก็คงต้องไปคิดลงในประมาณการ แล้วดูว่าจะมีผลกระทบต่อประมาณการเท่าไหร่ และก็ยังต้องมีประเด็นที่ตามมาสำหรับ ADVANC คงไม่มีอะไรมาก เพราะเงินน่ะมี แต่ TRUE นี่สิ คงต้องดูว่า TRUE จะทำอย่างไร
แล้วก็ต้องดูอีกว่า คลื่น 1800 แบ่งเป็น 3 slot จะมีคนประมูลกี่คน เกณฑ์ n-1 จะถูกนำมาใช้หรือไม่ เพราะถ้าใช้ แล้วมีผู้ประมูลแค่ 3 ก็เท่ากับจะมีคนได้คลื่นแค่ 2 slot ก็คงไล่ราคากันมันส์เหมือนเดิม เว้นแต่ว่า JAS จะกลับเข้ามาร่วมประมูลด้วย แต่คิดว่าไม่ เพราะว่าคุณพิชญ์เคยให้สัมภาษณ์ว่าไม่เอาแล้ว
แต่ถ้า n-1 ไม่ใช่้ราคาก็คงจะไม่มีการแข่งขัน ก็ได้กันที่ราคาขั้นต่ำ หรือไม่ก็เคาะกันแค่คนละครั้งสองครั้งนั่นล่ะ
ประมูล 1800 - ต้องถามใจคุณ "ศุภชัย" ดู
6 พ.ย. 2560 / 13.47 น.
ประเด็นเรื่องการประมูลคลื่น แม้จะมีการจัดทำร่างหลักเกณฑ์การประมูลเสร็จแล้ว แต่ยังคงมีขั้นตอนในเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นด้วย ซึ่งก็ต้องไปดูว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่ที่แน่นอนคือ กสทช จะไม่โอเคกับอะไรที่ทำให้รัฐเสียประโยชน์เมื่อเทียบกับการประมูลครั้งที่ผ่านมา ไม่งั้นอาจโดนข้อหาเอื้อประโยชน์แก่เอกชนได้
นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องรอดูว่า กสทช ชุดใหม่จะเข้ามาแก้ไขหลักเกณฑ์ใดๆหรือไม่ เพราะ กสทช ปัจจุบันเป็นชุดรักษาการ ที่สำคัญก็คือ จะเลือก กสทช กันได้ไหม เพราะต้องมีการเลือกโดยผ่าน สว ด้วย แต่ตอนนี้ไม่มี สว แล้วถ้าไม่มี กสทช ชุดใหม่ ชุดที่รักษาการจะสามารถเปิดประมูลได้หรือไม่?
ทีนี้มาดูกันว่า หาก "เกณฑ์การประมูล" เป็นไปตามที่ร่างออกมา (ตามข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) ตัวแปรสำคัญจะอยู่ที่ใคร
ทุกสำนักมองตรงกันว่า ADVANC น่าจะลอยลำ และคว้า 1 slot จากคลื่น 1800 อย่างแน่นอน ส่วนคลื่น 900 อีก 5 MHz ก็คาดว่า ADVANC น่าจะประมูลไปได้ และทางผู้บริหารก็ให้ข่าวชัดเจนว่าจะเข้าประมูลทุกคลื่นที่เปิดประมูลแน่นอน
ดังนั้นเราจะเหลืออีก 2 slot ซึ่งเป็นคลื่น 1800 โดย กสทช ได้ร่างหลักเกณฑ์ให้มีการนำเอาเกณฑ์ N-1 มาใช้ นั่นหมายความว่า ผู้ประมูลจะมีเท่าจำนวนคลื่นไม่ได้ เพราะจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขัน (เคยเกิดขึ้นมาแล้วตอนประมูลคลื่น 2100)
รายที่ 4 จะมีหรือไม่?? บอกได้เลยว่า ยากมาก เพราะคุณพิชญ์ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ไปแล้วว่า โบกมือบ๊ายบายลาขาดจากการประมูลแน่นอน และหากเราดูจากการจ่ายเงินปันผลอย่างมาก และอีกหลายๆอย่างที่ JAS ทำหลังจากการทิ้งคลื่นครั้งที่แล้ว ก็บ่งชี้อยู่แล้วว่า JAS ไม่คิดจะประมูลอีก
แล้วถามว่า จะมีใครกล้าเสนอหน้าเข้ามาประมูล ถ้าจะต้องเริ่มนับจาก 0 และธนาคารไหนจะกล้าออก bank guarantee ให้?? อีกทั้งค่าปรับในการทิ้งใบอนุญาตครั้งนี้สูงถึง 7.7 พันล้านบาท ไม่ใช่หลักร้อยล้านเหมือนที่ JAS จ่าย ค่าปรับขนาดนี้ อาจทำให้บริษัทบางแห่งเจ๊งกันได้เลยทีเดียว
โอกาสที่จะมีผู้ประมูลรายที่ 4 จึงแทบไม่มี
กรณีหนึ่งที่อาจทำให้ราคาหุ้นดีดกลับก็คือ หากมีการแก้หลักเกณฑ์ไม่ใช้เกณฑ์ N-1 แต่ถามว่า ใครจะกล้าเอาออก เพราะนั่นจะทำให้ไม่เกิดการแข่งขันใดๆทั้งสิ้น และภาครัฐอาจเสียประโยชน์ ผู้ที่ร่างเกณฑ์อาจโดนเช็คบิลในทันที ไม่ต้องรอย้อนหลัง!!!
ถ้าเราตั้งสมมติฐานว่า N-1 ถูกนำมาใช้ และมีผู้เข้าประมูลเหลือ TRUE กับ DTAC ที่ต้องแย่งใบอนุญาต 1 ใบที่เหลือ
ผมลองได้คุยกับนักวิเคราะห์ ก็ได้มุมมองที่หลากหลาย แต่สรุปตรงกันว่า "ตัวแปรสำคัญอยู่ที่ TRUE"
ในแง่ความจำเป็นของการเอาคลื่นนั้น TRUE มีคลื่นเหลือเฟือที่จะให้บริการได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพอยู่แล้ว ไม่มีความจำเป็นต้องเอาคลื่น 1800 อีกก็ได้ / ในขณะที่ DTAC ไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องประมูล 15 MHz กลับมาให้ได้ แม้ว่า DTAC จะได้เป็นผู้ให้บริการคลื่น 2300 ของ TOT แล้วก็ตาม แต่ต้นทุนก็สูงกว่าคลื่นบนใบอนุญาต
ในแง่ของฐานะทางการเงิน นักวิเคราะห์ประเมินกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ทั้ง TRUE และ DTAC อยู่ที่ราว 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมันเพียงพอสำหรับการเข้าประมูลอยู่แล้ว แต่ TRUE นั้นมีภาระที่จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตที่ประมูลมาได้ก่อนหน้านี้ ในขณะที่ DTAC ไม่ต้อง
คำถามจึงขึ้นอยู่กับว่า TRUE จะเอาอย่างไร???
ถ้า TRUE มองในแง่ของความ "จำเป็น" และ "ประโยชน์ของผู้ถือหุ้น" TRUE อาจเข้าร่วมประมูลแล้วก็เคาะสัก 1 ครั้งพอเป็นพิธี เพื่อให้ DTAC ได้คลื่นไปในราคาที่ไม่แพงกว่าราคาตั้งต้นมากนัก แล้ว TRUE รอไปประมูลอีกครั้งในการเปิดประมูลครั้งต่อไป
นั่นอาจทำให้ TRUE ได้คลื่น 15 MHz นี้ช้ากว่าคนอื่น แต่ก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพราะคลื่นในมือปัจจุบันก็ล้นอยู่แล้ว ที่สำคัญต้นทุนของคลื่นก็จะไม่สูงมากด้วย เพราะการประมูลครั้งถัดไป กสทช ก็น่าจะอ้างอิงราคาจากการประมูลที่ผ่านมาเช่นเดิม
ถ้าทำเช่นนี้ ก็สมประโยชน์กันทุกฝ่าย เพราะได้คลื่นในราคาที่ไม่โหดร้ายกันทุกเจ้า แต่ก็ต้องไปแข่งกันในเรื่องของการให้บริการเหมือนเดิม
DTAC จะได้ประโยชน์สุด เพราะได้คลื่น 1800 กลับให้บริการต่อได้อย่างต่อเนื่อง แม้ช่วงคลื่นจะลดลงจาก 25 MHz ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เหลือ 15 MHz แต่ก็มีคลื่น 2300 เข้ามาชดเชย สัญญาณของ DTAC ก็จะกลับมาโอเค เพราะ DTAC จะกล้าลงทุนทั้งบน 1800 และ 2300 เพราะอุปกรณ์ที่ลงทุนทั้งหมดจะเป็นของ DTAC และมีต้นทุนที่ถูกลงกว่าการอยู่บนสัมปทาน
นั่นเท่ากับว่า DTAC มีโอกาสจะฟื้นและกลับมาเบียดแย่งอันดับ 2 กับ TRUE ได้เหมือนเดิม
แต่ใจคนนั้น "ยากแท้หยั่งถึง" ใจคุณ "ศุภชัย" ก็เช่นเดียวกัน ผมหยั่งความคิดของบุคลลผู้นี้ไม่ออกจริงๆ ครั้งที่แล้วทั้งตลาดมองว่า TRUE อาจจะไม่เอาคลื่นใดคลื่นหนึ่งเพราะมีคลื่นล้นอยู่แล้ว ที่ไหนได้ TRUE คว้ามาหมดทั้ง 2 คลื่นตั้งแต่การประมูลรอบแรก แบบไม่ต้องรอให้ใครทิ้งคลื่น
ครั้งนี้ก็เช่นกัน
เรื่องเงิน ไม่ใช่ปัญหา กดปุ่ม "เพิ่มทุน" ทีเดียว ก็เสกเงินมาได้แล้ว ผู้ถือหุ้นใหญ่ใน TRUE ก็เป็นเครือ CP กับ China Mobile ถ้า 2 รายนี้เขา "ยินดี" จะใส่เงิน ผู้ถือหุ้นที่เหลือมีหน้าที่ "ควักกระเป๋า"
ถ้า TRUE ดึงดันจะเอาให้ได้ เกมนี้จะอยู่บนพื้นฐานของการ "เหยียบให้จม" กันไปเลย
หาก TRUE ไล่ราคา เพราะต้องการกัน DTAC ออกจากเกม จะทำให้ราคาใบอนุญาตพุ่งสูงขึ้นอีก ซึ่งราคาตั้งต้นก็ประเมินกันว่าเป็นราคาที่ "สูงอยู่แล้ว" เพราะแม้แต่ ADVANC เองยังบอกเลยด้วยซ้ำว่า การประมูลรอบที่แล้ว ADVANC ก็แทบจะถอดใจแล้ว เพราะราคามันเริ่มสูงเกินกว่าที่ตนเองจะรับได้ ดีที่ JAS หยุดเคาะเสียก่อน
คือถ้าระดับ ADVANC ยังโอดว่าราคาตรงนี้มันเริ่มแพงเมื่อเทียบกับฐานลูกค้าของตนเอง ก็ไม่ต้องพูดถึงทั้ง TRUE และ DTAC เพราะมันคงเป็นราคาที่ "โคตรแพง"
แต่ถ้า TRUE ไล่ล่ะ?? มันก็จะแพงกันขึ้นไปอีก
ถ้าทำสำเร็จ ทั้ง 3 ค่ายจะมีต้นทุนคลื่นที่สูงมาก แต่แลกมากับการที่ DTAC จะไม่ได้คลื่นกลับไปในครั้งนี้
คลื่น 1800 ของ DTAC จะต้องหยุดการให้บริการ ดังนั้น DTAC จะเหลือเพียงคลื่น 2100 และ 2300 เท่านั้น
การประมูล 1 slot ที่เหลือ ก็ไม่รู้ว่าจะเปิดประมูลหลังจากนั้นเมื่อไหร่ แต่ก็คงต้องมีการร่างหลักเกณฑ์อะไรกันใหม่ แม้ กสทช คงไม่เก็บคลื่นไว้นาน (เพราะเก็บไว้นานก็เสียรายได้) แต่ก็คงไม่สามารถเปิดประมูลได้ใน 2 - 3 เดือนหลังจากนั้น อาจต้องรอถึง 1 ปี
หาก DTAC ไม่มีคลื่น 1800 ในช่วง 1 ปีนั้น ก็ต้องไปนั่งหาทางออกกันอีก และก็ไม่รู้ว่าช่วงเวลาตรงนั้นจะเป็นอย่างไรสำหรับ DTAC การลงทุนบน 1800 จะยังคงเริ่มไม่ได้เป็นอันขาด เพราะไม่มีคลื่น ก็ต้องมาทุ่มกับ 2300 ไปก่อน และคลื่น 2300 ก็ไม่ได้เป็นมาตรฐานสำหรับโทรศัพท์ทุกเครื่อง มีแค่ประมาณ 80% เท่านั้นที่ใช้ได้ เท่ากับว่ามือถืออีก 20% จะใช้สัญญาณของ DTAC ไม่ได้ ก็ต้องมีการปรับรูปแบบการใช้คลื่นให้ 2100 ให้บริการทั้ง 3G และ 4G
นักวิเคราะห์ถามผมกลับว่า "ผู้บริหาร TRUE จะตอบผู้ถือหุ้นอย่างไร ถ้ายังดันทุรังเข้าประมูลไล่ราคาในสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนขนาดนั้น"
คำถามนั้นอาจต้องเอาไว้ถาม ผู้ถือหุ้นที่มีคุณธรรมในการดำเนินธุรกิจ
เพราะที่ผ่านมา เป้าหมายของ TRUE ก็ดูเหมือนต้องการเขี่ย DTAC ออกไปให้พ้นทางอยู่แล้ว
ถ้าถามผม "จะตี ก็ต้องตีให้ตาย ข้อร้อง อย่าหยุดตี ไม่งั้นอาจจะกลับมาเป็นหอกข้างแคร่เราได้อีก"
แต่คงไม่มีใครรู้คำตอบ แต่ผมเชื่อว่า "คุณศุภชัยมีคำตอบอยู่ในใจแล้ว"