ดูเหมือนบทเรียนหุ้น VI จะมีโอกาสให้เราได้เห็นอีกครั้งหลังจากที่ BLA ดิ่งทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปี แตะที่ราคา 35 บาท หลังมีความกังวลที่ BBL ผู้ถือหุ้นใหญ่และมีลูกรักอย่าง BLA จะหันมาปันใจให้กับ AIA ขายประกันผ่านสาขาของแบงค์เพราะให้ค่าคอมมิชชั่นที่สูงมากกว่า โบรคเกอร์เสียงแตกมีแนะขาย แนะซื้อ เพราะรายได้ของ BLA อาจจะลดลง ในขณะที่โบรคบางแห่งบอกว่านี้เป็นแค่ผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น....
BLA หรือ บริษัท กรุงเทพประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจประกันชีวิต 2 ประเภทหลัก คือ การประกันชีวิตสามัญและประกันชีวิตกลุ่ม โดยมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท นิปปอนไลฟ์ อินชัวรันส์ ซึ่งเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และพันธมิตรทางธุรกิจ
แต่เดิมในอดีต BLA มักจะเป็นหุ้นที่กล่าวถึงในแง่ของการลงทุน รับปันผล พื้นฐานดี ธุรกิจมีความแข็งแกร่งอาจจะเรียกได้ว่าเข้าตำรา "หุ้น VI" ก็ไม่ผิดมากนัก ด้วยความที่ราคาหุ้นไม่หวือหวา มีปันผลที่สม่ำเสมอจึงเป็นขวัญใจนักลงทุนระยะยาวและกองทุนสถาบันตลอดเวลา อีกทั้งโบรคเกอร์จึงมักจะแนะนำหุ้นตัวนี้ให้กับลูกค้าเพื่อปรับโครงสร้างของพอร์ตไม่ให้ผันผวนมากเกินไปนัก
"ไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพัน" หุ้นดีอย่าง BLA เจอข่าวร้ายกลายมาเป็นหุ้น"ร้องยี้" ของนักลงทุน เมื่อ BBL ประกาศขายประกัน AIA ทำให้ราคาหุ้นของ BLA ร่วงลงอย่างหนักกลายมาเป็นหุ้น TOP 10 ยอดแย่ของปี 2560 กันเลยทีเดียว ประเด็นนี้เป็นบวกต่อหุ้น BBL เช้านี้ หนุนมูลค่าการซื้อขายอันดับ 1 จากการที่ตลาดมองว่าจะได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันเพิ่มขึ้น
ซึ่งสวนทางกับหุ้น BLA ที่ดิ่งลง หลังตลาดส่วนใหญ่มองไปทางลบ กังวลว่ายอดขายประกัน BLA ผ่านธนาคารกรุงเทพ น่าจะลดลง แม้ทางผู้บริหาร BLA จะระบุว่า BBL ยังคงสนับสนุนและเสนอขายผลิตภัณฑ์หลักๆ ของบริษัทฯ ต่อไป โดยผลิตภัณฑ์หลักของ BLA ที่ยังเสนอขายผ่าน BBL คิดเป็นยอดขายกว่า 90% ของการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตรายใหม่ของ BBL ทั้งหมดในปี 2559 แต่ดูเหมือนนักลงทุนจะไม่ฟัง ยังคงถล่มขายราคาหุ้นต่อเนื่อง
ที่มาภาพ : สมาคมประกันชีวิตไทย
ณ สิ้นปี 2559 บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต มีส่วนแบ่งการตลาดเบี้ยรับรวมเป็นอันดับที่ 6 ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 7.63% ส่วนอันดับ 1 ได้แก่ บจ.เอไอเอ 1.21 แสนล้านบาท คิดเป็นมาร์เก็ตแชร์ 21.34% ตามด้วยอันดับ 2 บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต (17.07%) และอันดับ 3 บมจ.ไทยประกันชีวิต (14.17%)
BLA มีช่องทางขายประกันผ่าน ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยที่ผลิตภัณฑ์หลักที่เสนอขายผ่านธนาคารคิดเป็นมากกว่า 90% ของเบี้ยประกันรับรายใหม่ที่ขายผ่านช่องทางธนาคารทั้งหมดในระหว่างปี 2559
ลองหันมาดูบทวิเคราะห์ของโบรคเกอร์แต่ละสำนัก ซึ่งได้ปรับประมาณการลง มีการมองสถานการณ์ดี สถานการณ์ร้ายที่สุดเป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุนว่าจะเลือกเชื่อแบบไหน .....
บริษัทหลักทรัพย์(บล.)ฟิลลิป กล่าวว่า จากการประชุมนักวิเคราะห์ กรณีการทำสัญญาดังกล่าวจะดีต่อ BBL ในแง่ที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เสนอให้กับลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น และน่าจะทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มสูงขึ้น ส่วน BLA จะมีผลทำให้ยอดขายประกันผ่าน BBL อาจจะลดลง ซึ่งทางฝ่ายอยู่ระหว่างปรับประมาณการกำไรปี 61 ของ BLA ลง และน่าจะทำให้ราคาพื้นฐานลดจากเดิมที่ 48 บาท
อย่างไรก็ตามบทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป ก่อนหน้านี้ก็ได้ปรับลดประมาณการกำไรปี 61 ของ BLA ลงเหลือ 4.7 พันล้านบาท จากเดิมที่ 5.5 พันล้านบาทเนื่องจากปรับเพิ่มค่าใช้จ่ายในการรับประกันเพื่มขึ้น จากการเวนคืนกรมธรรม์ที่สูงกว่าคาด
บล.ฟินันเซีย ไซรัส ประเมินผลกระทบต่อ BLA ภายหลัง BBL ได้เซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับ AIA ซึ่งในเบื้องต้นทำให้ BLA ไม่สามารถขาย Whole-life insurance (สัดส่วนการขายราว 20% ของเบี้ยประกันชีวิตปีแรก) ผ่าน BBL ได้อีกต่อไป แต่ยังคงเหลือ Endowment และ Credit life
กรณีปกติ (Base-case) คาดว่าจะกระทบประมาณการกำไรปี 61 ราว 25% กรณี Worse-case คาดกระทบราว 63% เชื่อว่าหลายประเด็นนอกจากความกังวลด้านผลประกอบการจะกดดันราคาหุ้นจนกว่าจะเห็นความชัดเจน ซึ่งมองว่า BLA น่าจะเสียเปรียบในการเข้าถึงลูกค้าของ BBL หลังจากนี้ เมื่อประกอบกับผลประกอบการครึ่งปีหลังที่มองว่าไม่สดใส จึงปรับลดคำแนะนำจาก"ถือ" เป็น"ชะลอการลงทุน" ราคาเป้าหมายปี 61 กรณี Base case อยู่ที่ 37 บาท
บทวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ กล่าวไว้ว่าผลิตภัณฑ์ของ BLA และ AIA ที่ขายผ่าน BBL มีความแตกต่างกัน ของ BLA จะเน้นไปที่ประกันสะสมทรัพย์และผลิตภัณฑ์ประกันสินเชื่อ ในขณะที่ AIA จะเน้นไปที่ประกันสะสมทรัพย์ระยะยาว (มากกว่า 15 ปี) และประกันตลอดชีพ ซึ่ง BLA จะปรับแผนธุรกิจใหม่โดยเบี้ยประกันที่จะขายผ่าน bancassuarance จะเหลือเพียง 73% ซึ่งหมายความว่าเบี้ยประกันจะลดลง 5% ทำให้ SCBS ปรับลดการเติบโตของ BLA ลงจาก 7% เหลือเพียง 2% โดยยังแนะนำ "ซื้อ" ให้ราคาเป้าหมายเดิมที่ 50 บาท
บล.โกลเบล็ก มองประเด็นนี้เป็นผลลบต่อ BLA ในระยะสั้นเนื่องจากคาดว่านักลงทุนจะกังวลในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน อย่างไรก็ดี คาดว่าในอนาคต BLA จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างจากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตของ AIA รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายที่ลดการพึ่งพิง BBL แนะนำ ทยอยซื้อเมื่ออ่อนตัว โดยราคาเป้าหมาย BLA โดย Bloomberg Consensus อยู่ที่ 49.39 บาท
นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ดีล BBL-AIA เป็นความเสี่ยงต่อ BLA และระวังการปรับลดกำไรและราคาเหมาะสมของ concensus ลง ด้วยเหตุผล 4 ประการ ดังนี้
1) สูญเสียสิทธิ์ในการเป็นผู้จำหน่ายเพียงรายเดียว (exclusivie right) ในสาขาของ BBL ทั้งนี้ในระยะสั้นไม่มีผลกระทบต่อผลประกอบการมากนัก เนื่องจากไลน์ของสินค้าประกันจะไม่ซ้อนทับกัน แต่การจะขยายไลน์ของสินค้าประกันแบบใหม่ๆ ในอนาคตก็อาจจะมีข้อจำกัดมากขึ้น
2) ผลกระทบต่อค่าพรีเมียม เนื่องจาก AIA เป็นบริษัทประกันที่มีระดับของพรีเมียมสูงที่สุดในตลาด เท่ากับความสามารถในการจ่ายค่าคอมที่สูงกว่า หากรูปแบบการคิดผลตอบแทนดีกว่าหรือสูงกว่า BLA อาจทำให้พนักงาน ไปเน้นขายสินค้าของ AIA มากขึ้น
3) กำไรไตรมาส 3/60 มีความเสี่ยงจากการตั้งสำรอง หลัง bond yield ลดลงในไตรมาสดังกล่าว จึงอาจทำให้กำไรของ BLA ลดลง QoQ และYoY
4) อาจเห็นการปรับประมาณการกำไรและคำแนะนำลง โดยหากพิจารณาราคาเหมาะสมของ Bloomberg Concensus ที่ 49 บาท แต่ราคาเหมาะสมในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เริ่มปรับลดลงต่อเนื่อง (แสดงถึงการทยอยปรับลดราคาเหมาะสมลง)
บล.บัวหลวง ออกบทวิเคราะห์ไว้ว่า "ปรับลดกำไรปี 2561 ลงจากดีล AIA" โดยจะปรับลดกำไรของปี 2561 ลง 6% มาอยู่ที่ 5.5 พันล้าน แต่ยังคงประมาณการปี 2560 อยู่ที่ 5.3 พันล้าน ถือว่าเพิ่มขึ้น 4% YoY อีกทั้งแนวโน้มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะหนุน ROI ปีหน้า .ให้คำแนะนำ "ซื้อ" ที่ราคาเป้าหมาย 55 บาท
โบรคส่วนใหญ่ของไม่ค่อยดีนัก แต่ก็ยังให้ราคาเป้าหมายที่ราคา 45-55 บาท ถือว่าสูงกว่าราคาตลาด ณ ปัจจุบันที่ 35 บาท คงจะไม่มีอะไรตอบได้ดีเท่ากับผลประกอบการของ BLA ที่จะประกาศเร็วๆนี้และจะเห็นได้เด่นชัดที่สุดคือปี 2561 บางครั้งบริษัทที่ไม่สามารถยืนด้วยลำแข็งของตัวเอง ค่า P/E P/BV ถูกแค่ไหนแม้กระทั่งเคยเป็นหุ้น VI หรือไม่ ก็ไม่สามารถร้ังราคาหุ้นหรือความตื่นตระหนกตกใจของนักลงทุนได้
คำนิยามของตลาดหุ้นที่บอกว่า "ซื้อเมื่อเลือดนองตลาด" จะใช้ได้ผลหรือจะเป็นเพียงวาทกรรมคำกล่าวที่ไม่รู้จะใช้ได้ผลหรือไม่ มีแต่นักลงทุนเท่านั้นที่ตอบได้...
---------------------------
เขียนโดย คนเล่นหุ้น
ขอบคุณแหล่งเนื้อหาเพิ่มเติมจาก
https://www.thunhoon.com/%E0%B8%BAbla-5/
http://bidschart.com/news/6989
http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/777195
https://www.set.or.th/set/factsheet.do?symbol=BLA&ssoPageId=3&language=th&country=TH