#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

3 Cryptocurrency ที่น่าติดตามไม่แพ้​ Bitcoin

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
232 views

3 Cryptocurrency ที่น่าติดตามไม่แพ้​ Bitcoin

ตั้งแต่ Bitcoin ทำราคาทะลุ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ไปเมื่ออาทิตย์ก่อน คงไม่มีใครในโลกลงทุนที่ไม่รู้จักเงินสกุลดิจิทัลหรือ “cryptocurrency” แล้ว  ขณะนี้ market capitalization ในตลาด cryptocurrency อยู่ที่เฉียดๆ 170 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ market capitalization ของ SET50!  โดยมีเงินสกุลดิจิทัลพันธุ์ใหม่ๆ เกิดแก่เจ็บตายกันเป็นว่าเล่น

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับ 3 สกุลเงินดิจิทัลที่ถึงแม้จะยังไม่โด่งดังเท่า Bitcoin หรือ Ethereum (สองสกุลที่ครองกว่า 70% ของตลาด cryptocurrency) แต่ผู้เขียนคิดว่ามีอุดมการณ์เบื้องหลังที่น่าติดตาม​และมีโอกาสขึ้นมาสร้างบทบาทมากขึ้นในอนาคตครับ

 

1. Ripple (XRP)

Ripple  ที่จริงแล้วไม่ใช่ชื่อสกุลเงินดิจิทัลแต่เป็นชื่อของระบบเครือข่ายการชำระเงินทั่วโลกแบบ​ “crypto”​ ​ ที่ช่วยอำนวยให้การชำระเงิน​ แลกเปลี่ยนหรือส่งสินทรัพย์ไม่ว่าจะจากที่ใดในโลก​ ​เกิดขึ้นได้อย่างไร้แรงเสียดทานและรวดเร็วที่สุด​  ​ ไม่ว่าจะเป็นการชำระเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก​ การส่งเงินต่างสกุลให้ญาติที่อยู่ต่างแดน​ ​

 

พูดง่ายๆ​ ก็​คือ​ Ripple เป็นตัวกลางที่คอยเสาะหาช่องทางที่มีต้นทุนต่ำที่สุดสำหรับการทำธุรกรรมทุกประเภท

 

สองจุดที่​ Ripple สามารถ​เข้ามาเขย่าวงการได้มากที่สุดคือ​ 1. การ​ทำ​ settlement ระหว่างธนาคาร​ 2.การแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ​ 

 

ทั้งสองจุดนี้หลายคนคงทราบดีว่าเข้าจุดอิ่มตัวมานานหลายสิบปี​  มีกระบวนการที่หลายต่อ​​ และมีพ่อค้าคนกลางหลายคน​  การทำ​ settlement ระหว่างธนาคารนั้นมักใช้เทคโนโลยียุคก่อนอินเตอร์​เน็ต​ นั่นก็คือระบบ​ SWIFT​ ซึ่งไม่เสร็จสิ้นทันที​และมีค่าธรรมเนียมสูง​  การแลกเงินไปสกุลต่างประเทศลูกค้าก็มักถูกธนาคารเก็บส่วนต่างไปไม่ใช่น้อยโดยเฉพาะหากต้องการแลกซื้อเงินสกุลที่ exotic มากๆ​ 

 

กลับกัน​ ผู้ใช้งาน​ Ripple ที่ชื่อนายแดง​สามารถส่งสินทรัพย์​ไปยังบัญชี​ของผู้ใช้ชื่อนายดำได้แบบทันที​ ไม่มี​ counterpart risk  และมีค่าใช้จ่ายไม่สูง

 

ส่วนตัวสกุลเงิน XRP นั้น​ นอกจากจะทำตัวเป็นราคาของทุกสินทรัพย์​ในระบบ​ Ripple  เผื่อว่าไม่มีผู้ซื้อผู้ขายที่มีความต้องการเดียวกันพร้อมกันแล้ว​ ยังทำตัวเป็นเหมือนตัวหล่อลื่น​ระบบ​ Ripple ด้วย โดยทุกๆ ธุรกรรมจะมีต้นทุนขนาดย่อมเป็นสกุล​ XRP​ และต้นทุนนี้ไม่มีใครเก็บไป​ แต่จะถูกทำลายแทน  ทั้งหมดนี้เพื่อให้ไม่เกิดการ​ Spam​ ระบบขึ้น​ ​

 

สำหรับผู้เขียนเอง​ ประเด็นที่น่าสนใจที่สุดก็คือ​ Ripple มี​จุดขายที่แทบจะตรงกันข้ามกับ​ Bitcoinในขณะที่​ Bitcoin​ ต้องการปิดบังความเป็นตัวตนของผู้ใช้​  เกลียดชังการสุงสิงกับสถาบันการเงิน​ และยังมีข้อจำกัดมากในการทำธุรกรรมขนาดใหญ่​  Ripple ฉีกแนว​ เน้นให้การใช้งานมีหลักฐานที่มาที่ไปเกี่ยวกับผู้ใช้ครบถ้วน​ จึงเป็นการลงรอยกับกฎหมายในหลายประเทศมากกว่า​​ และพยายามที่จะเจาะตลาดที่มีอยู่แล้วโดยใช้ประโยชน์จากความน่าเชื่อถือที่เหล่าสถาบันการเงินสร้างมากับมือเป็นเวลานาน​

 

2. ZeroCash

Bitcoin​ เคยมีจุดขายหนึ่งคือความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งาน​  แต่ปัญหาคือ​ มันมีความเป็นส่วนตัวแค่ไหนเชียว? โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่นักวิจัยกลุ่มหนึ่งสามารถ​วิเคราะห์​ข้อมูลธุรกรรม​ที่ถูกบันทึกใน​ ledger ที่ทุกคนมองเห็นแล้ว​สืบพร้อมกับ​ FBI กลับไปจับตัวผู้ใช้งานรายหนึ่งที่ทำการค้ายาเถื่อนได้​ 

 

นั่นก็คือถ้าถามว่า​ Bitcoin​ หรือการนัดพบเพื่อจ่ายเป็นเงินสดแบบซึ่งๆหน้า​ อันไหนมีความเป็นส่วนตัวมากกว่ากัน​ คิดดูดีๆแล้วธุรกรรมที่ใช้เงินสดก็ยังปกปิดความเป็นตัวตนได้มากกว่าอยู่ดี

 

ZeroCash​ คือสกุลเงินดิจิทัลที่ต้องการตอบโจทย์​ของการปกปิดตัวตนของผู้ใช้อย่างสมบูรณ์ โดยมีหลักการคร่าวๆ​ คือผู้ใช้สามารถทำธุรกรรมได้โดยการเอาเงินไปแลกกับใบเสร็จนิรนามแล้วใช้ใบเสร็จนั้นทำธุรกรรม​  สิ่งที่จะปรากฏ​อยู่ให้ทุกคนเห็นในภายหลังคือใบเสร็จไหนทำธุรกรรมอะไรไป​ แต่ไม่สามารถสืบกลับไปถึงต้นน้ำได้ว่าผู้ใช้​ ZeroCash​ ที่ทำการสุ่มใบเสร็จ​นี้คือใคร

 

3. Dash

ณ​ เวลานี้ไม่มีเงินสกุลดิจิทัลน้องใหม่ไหนร้อนแรงเท่า​ Dash อีกแล้ว​  ภายในช่วงเวลาแค่สามปีสามารถครองตลาด​เงินดิจิทัลได้เป็นถึงอันดับ​ 3 รองจาก​ Bitcoin​ และ​ Ethereum​

 

Dash คือ​ เงินสดดิจิทัล​ (Cash ที่สะกดด้วย​ตัว​ D)​ ที่ตั้งใจตีตลาด​ mass และต้องการให้คนใช้กันอย่างแพร่หลายและใช้ได้ง่ายๆ​ เหมือนที่คนใช้​ Paypal​ กันอย่างทุกวันนี้​

 

ประมาณว่าคุณไม่ต้องเข้าใจเลยว่า​ Paypal​ มีเทคโนโลยีอะไรอยู่เบื้องหลังคุณก็ยังใช้มันอย่างเลื่อมใส​  Dash ก็ต้องการให้การใช้เงิน​ ​cryptocurrency​ ง่าย​ ปลอดภัยและเปฺ็นมิตรต่อผู้ใช้งานเช่นเดียวกัน​

 

หากให้สรุปแบบคร่าวๆ​​ Dash ก็คือ Bitcoin​ ที่มีโอกาสรุ่งในฐานะ​ “เงิน” ที่เป็น​ Medium​ of exchange มากกว่า​ Bitcoin

 

ที่​ Bitcoin​ สอบตกในฐานะ​ “เงิน” เมื่อเทียบกับ​ Dash นั้น เหตุผลแรกคือเดี๋ยวนี้ต้นทุนในการทำธุรกรรม​ Bitcoin​ เริ่มสูงขึ้นจนไม่คุ้มธุรกรรมเล็กๆน้อยๆ​ เช่นการซื้อน้ำซื้ออาหารแล้ว​ อีกทั้งหากจะประหยัดค่าธรรมเนียมก็อาจต้องรอเป็นวันกว่าธุรกรรมจะเสร็จสิ้น​  Dash สามารถทำ​ micropayment​ ที่สะดวก​ว่องไว​  มีบริการธุรกรรมที่้เสร็จสิ้นได้ทันที​ และมีต้นทุนต่ำกว่า​  Dash จึงชนะไปในจุดนี้

 

เหตุผลที่สองคือ​ Dash มีสังคม และ​ ownership structure ที่ไม่น่ากระวนกระวายใจเท่ากับในกรณีของ​ Bitcoin​ ที่เต็มไปด้วยความแตกแยก​ ซึ่งนอกจากจะสร้างความไม่แน่นอนในอนาคตของมันแล้วยังทำให้ระบบพัฒนาหรือแก้ไขข้อบกพร่องได้ช้ากว่า​ Dash มาก​ 

 

นอกจากนี้​ Dash ยังมีตำแหน่ง​ “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ที่เรียกกันว่า​ masternodes​ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิ์​ออกเสียง​ในการตัดสินใจความเป็นไปของ​ Dash ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ​ Scalability หรือแม้กระทั่งการจะจ้าง​ Developer มือดีคนไหนมาพัฒนาระบบต่อไป​  ซึ่งตำแหน่ง​ masternodes​ นี้ซื้อได้ที่ราคา​ 1000​ Dash 

ในขณะที่สังคม​ Bitcoin​ เต็มไปด้วยปมการเมือง​ สังคม​ Dash เชื่อว่า​ คนส่วนมากอยาก​ “ใช้เงินให้เป็นเงิน” เหมือนที่เราถือเงินบาทในกระเป๋าสตางค์​ ไม่ได้ต้องการลุ้นดราม่า​ว่าเงินที่ตนถืออยู่จะกลายพันธุ์​ไปเป็นอะไรที่ไม่พึงประสงค์ไหม หลังจากที่ใครก็ไม่รู้ออกเสียงกันพรุ่งนี้​ และไม่แคร์ว่าตนจะต้องออกเสียงอย่างไรในการประชุมรอบต่อไป​ ปล่อยให้​ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีแรงจูงใจมากที่สุดเป็นผู้ตัดสินใจไปดีกว่า

 

หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเห็นภาพอนาคตของระบบนิเวศเงินดิจิทัลชัดขึ้นนะครับ​ ในความเห็นส่วนตัวแล้ว​ ผู้เขียน​คิดว่าจะมีเงินสกุลใหม่ๆ​ ที่ออกมาตอบโจทย์​ niche แบบทั้งสามสกุลนี้เพิ่มขึ้น​ และจะน่าติดตามมากว่า​จุดยืนของ​ Bitcoin​ จะกลายไปเป็นอะไรเมื่อจุดแข็งในอดีตของ​มัน​ กำลังถูกแซงไปทีละจุดอย่างรวดเร็วโดยเงินสกุลน้องใหม่เหล่านี้


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง