#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

ข่าวสารการลงทุน - Jeff Bezos ซีอีโอ Amazon รวยที่สุดในโลก !!

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
301 views

เจฟฟ์ เบซอส(ซ้าย) บิล เกตส์ (ขวา) AFP PHOTO / David Ryder AND EMMANUEL DUNAND (มติชนออนไลน์)

(ที่มาภาพ : www.msn.com)


มูลค่าหุ้นอเมซอน ที่เพิ่มขึ้นหลังปิดตลาดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมที่ผ่านมาส่งผลให้ เจฟฟ์ เบซอส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทค้าปลีกออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่างอเมซอน วัย 53 ปี ก้าวขึ้นเป็นผู้ที่ร่ำรวยที่สุดในโลกแซงหน้า บิล เกตส์ ที่ครองตำแหน่งยาวนาน 4 ปี ตามการจัดอันดับดัชนีเศรษฐีพันล้านบลูมเบิร์ก (Bloomberg Billionaires Index) เป็นครั้งแรก

 

  • ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทอเมซอน มีทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นอีก 10,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หลังมูลค่าหุ้นเพิ่มขึ้นถึง 13 เปอร์เซ็นต์ มากที่สุดในรอบ 2 ปีครึ่ง โดยการเพิ่มขึ้นดังกล่าวมีขึ้นหลังอเมซอนเปิดเผยรายงานยอดขายและผลกำไรประจำไตรมาสที่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
     
  • ก่อนหน้านี้เบซอส เคยมีทรัพย์สินเพิ่มสูงขึ้นกว่า บิล เกตส์ ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากหุ้นขึ้นและตกลงในช่วงหลังปิดตลาดส่งผลให้เบซอสยังคงอยู่ในอันดับที่ 2

     
  • ทั้งนี้หลังปิดตลาดเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม เบซอส มีทรัพย์สินสุทธิที่ 93,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มากกว่าบิล เกตส์ 5,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามดัชนีเศรษฐีพันล้านของบลูมเบิร์ก ที่ติดตามความร่ำรวยของมหาเศรษฐีระดับโลกรายวัน โดยในปีนี้เบซอส มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นถึง 28,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เกตส์ ยังคงมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้น 6,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐนับตั้งแต่สิ้นปีที่ผ่านมา แม้ว่า เกตส์ จะบริจาคหุ้นมูลค่า 4,600 ล้านดอลลาร์ ให้กับมูลนิธิบิลและเมลินดาเกตส์ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาก็ตาม
     

ก่อนเจฟฟ์ เบโซส์ จะรวยที่สุดในโลก “อเมซอน” ถูกประเมินว่าจะล้มเหลวตั้งแต่เริ่มต้น..
 


 
ในวันนี้ เจฟฟ์ เบโซส์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Amazon คือคนที่รวยที่สุดในโลก แซงหน้าบิลล์ เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟต์ (แม้จะเป็นชั่วขณะตอนหุ้นของเขาขึ้นสูงสุดแบบเฉียบพลันก็ตามที)
 
หนทางไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ...
 
อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เด็กหนุ่มอนาคตไกลที่ได้เป็นถึงรองประธานอาวุโสบริษัทการเงินทุนในวัย 28 ปี
 
ออกมาทำธุรกิจค้าขายทางอินเตอร์เน็ต ที่เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้วถูกประเมินว่า อย่างไรก็ไปไม่รอด...
 
 
เจฟฟ์ เบโซส์ ปั้นเว็บไซต์ “อเมซอน” ธุรกิจที่โดนปรามาสว่าจะล้มเหลว
 
ลองจินตนาการว่า ถ้าชีวิตมีทางเลือก 2 ทาง ทางแรกคือการเป็นพนักงานดาวเด่นในองค์กรใหญ่ ซึ่งในอนาคตอาจจะก้าวขึ้นไปถึงระดับผู้บริหารของบริษัท กับทางเลือกที่สอง ออกมาประกอบธุรกิจเองเพราะเห็น “โอกาส” บางอย่าง แม้ว่าธุรกิจนั้นจะถูกคนภายนอกประเมินว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะล้มเหลว
 
แน่นอนว่า ตัวเลือกที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้วนี้ หลายคนคงจะเลือกทางที่มีความเสี่ยงต่ำ และมีผลตอบแทนที่ไม่น้อยเลย นั่นคือ ตัวเลือกแรก
 
แต่เจฟฟ์ เบโซส์ กลับเลือกทางที่เสี่ยงมากกว่า โดยไม่อาจรู้เลยว่า ปลายทางที่เขาเลือกจะพบกับความสำเร็จหรือล้มเหลว 
 
ในเบื้องแรก ดูเหมือนเส้นทางชีวิตของเจฟฟ์ เบโซส์ จะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เขาเป็นนักศึกษาระดับหัวกะทิจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่างพรินซ์ตัน ได้รับการทาบทามจากบริษัทใหญ่มากมายให้มาร่วมงานด้วย เริ่มต้นการทำงาน เขาเลือกที่จะทำงานกับบริษัทเงินทุนชื่อดังอย่าง D.E. Shaw & Co. แล้วขึ้นเป็นรองประธานอาวุโสของบริษัทตั้งแต่อายุ 28 ปี
 
คนวัยหนุ่มที่ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วขนาดนั้น ยังต้องการอะไรอีก?
 
คำตอบคือ สิ่งที่เจฟฟ์ เบโซส์ต้องการก็คือ “โอกาส” ทางธุรกิจที่ท้าทายมากกว่านี้ เขาจึงลาออกจากบริษัท เพื่อมาทำธุรกิจส่วนตัว นั่นคือ “การขายสินค้าทางเว็บไซต์”
 
เบโซส์ตั้งเว็บไซต์ www.amazon.com ขึ้นในปี ค.ศ.1994 (พ.ศ.2537) ท่ามกลางเสียทัดทานจากหลายคนว่า ให้คิดดูให้ดี แม้แต่ประธานบริษัท D.E. Shaw & Co. ยังเคยพูดกับเขาว่า “มั่นใจว่าจะไปขายของออนไลน์จริง ๆ เหรอ ผมคิดว่านั่นเป็นงานของพวกที่หาอะไรทำไม่ได้เสียอีก”
 
ที่สำคัญ ธุรกิจของเขาถูกประเมินความเสี่ยงว่า มีความเป็นไปได้ที่จะล้มเหลวสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ แต่เจฟฟ์ เบโซส์ไม่ได้สนใจคำวิจารณ์ใด ๆ เขาลาออกจากบริษัทก่อนหน้าที่เขาจะอายุ 30 ปี ไม่กี่วัน แล้วเดินหน้าสานฝันของเขา เพราะเห็นว่า ธุรกิจนี้มี “โอกาส” 
 
โอกาสดังกล่าวอยู่ตรงที่ ในช่วงเวลานั้น ระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อการพาณิชย์เพิ่งเริ่มเติบโตในทศวรรษที่ 90 ซึ่งช่วงเวลานั้นเอง อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตขยายตัวมากถึง 2,300 เปอร์เซ็นต์
 
เขาจึงวางระบบธุรกิจที่คนภายนอก(ในขณะนั้น) มองว่าเป็นเรื่องเล่น ๆ ด้วยการตัดสินใจย้ายบ้านจากนิวยอร์กไปที่ซีแอตเทิล เพื่อให้อยู่ใกล้กับศูนย์กระจายสินค้าประเภทหนังสือ อันเป็นสินค้าหลักที่เขาจะนำมาขายในโลกออนไลน์ ซึ่งจะทำให้ประหยัดค่าขนส่งได้อีกมากมาย 
 
ในช่วงเริ่มต้นของชีวิตที่เป็น “นาย” ของตัวเอง เจฟฟ์ต้องพิสูจน์ตัวเองมากมาย เขาเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นผู้บริหารอนาคตไกล กลายเป็นคนที่มีหนี้สินอยู่รอบตัว จากที่เคยมีรถประจำตำแหน่ง ต้องขับรถขนส่งสินค้าเอง แม้ในยามดึกดื่นเจฟฟ์ก็ต้องใช้เวลาในการพัฒนาเว็บไซต์ของตน
 
เขาใช้โรงรถของบ้านเป็นทั้งออฟฟิศและโรงเก็บสินค้า เขาไม่มีโต๊ะทำงาน จึงเอาแผ่นไม้ราคาถูก ๆ มาใช้เป็นโต๊ะทำงานแทน ส่วนแรงงานที่ใช้ทำงานก็คือ เพื่อนบ้านที่มาช่วยแพ็กสินค้าและส่งของทางไปรษณีย์
 
เจฟฟ์ทำงานหนักไม่นาน ก็ได้ผลลัพธ์ที่เกิดจากการมองเห็น “โอกาส” โดยหลังจากที่เว็บไซต์ “อเมซอน” เปิดบริการเพียง 30 วันแรก ผู้คนทั้ง 50 รัฐในอเมริกาต่างสนใจใช้บริการนี้ ทำให้ธุรกิจของเขาในช่วงตั้งต้นมียอดขายสูงถึง 20,000 เหรียญสหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ 
 
(ที่มาภาพ : www.bgr.in)
เว็บไซต์ของเขาเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ จนในปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) “อเมซอน” ได้เข้าตลาดหุ้นและกลายเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก แซงหน้ายักษ์ใหญ่แห่งวงการหนังสือเจ้าเดิมอย่าง “บาร์น แอนด์ โนเบิล” และในทุกวันนี้ ไม่มีอะไรที่คุณจะหาซื้อไม่ได้หากเปิด www.amazon.com
 
“อเมซอน” มาจากชื่อแม่น้ำที่ไหลพาดยาวผ่านทวีปอเมริกาใต้ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำสายที่ยาวที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก แต่ทุกวันนี้ ผู้คนรู้จัก “อเมซอน” ในฐานะเว็บไซต์ดังระดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งส่งผลให้เจฟฟ์ เบโซส์กลายเป็นมหาเศรษฐีติดอันดับโลกทุกปี และล่าสุด เขากลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลกไปแล้ว กับทรัพย์สินมากกว่า 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3 ล้านล้านบาท) ซึ่งแซงหน้าเจ้าพ่อไมโครซอฟต์อย่าง บิล เกตส์ ไปแล้ว
 
และทุกวันนี้ นอกจาก อเมซอนแล้ว เจฟฟ์ เบโซส์ ยังทำธุรกิจสิ่งพิมพ์อย่าง Washington Post และบุกเบิกด้านอวกาศผ่าน Blue Origin อีกด้วย
 
ความร่ำรวยของเขา วัดกันที่วิสัยทัศน์ในการมองเห็น “โอกาส” ในอนาคต
 
มันคือการมองข้ามยุคสมัยจากที่คนในยุคนั้นมองว่า โอกาสที่ธุรกิจสินค้าขายออนไลน์มีสิทธิ์ที่จะล้มเหลว แต่เขากลับมองเห็น “โอกาส” ที่จะประสบความสำเร็จจากโมเดลธุรกิจนี้จากการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต
 
มองให้ดีโอกาสมีอยู่รอบตัวครับ...
 

ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง