EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป หลัง ICAO ปลดล็อกธงแดง?
องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ประกาศปลดธงแดงประเทศไทยจากประเทศที่มีข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยด้านการบิน (SSC) หลังจาก ICAO เข้ามาตรวจสอบไทย ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยการปลดธงแดง จะส่งผลให้สายการบินสัญชาติไทยสามารถเปิดเส้นทางใหม่ เพิ่มความถี่เที่ยวบิน เปลี่ยนขนาดเครื่องบินและให้บริการแบบเช่าเหมาลำ (Chartered flight) ในประเทศที่มีมาตรการออกมาระงับการบิน เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทั้งนี้ ICAO ได้ปักธงแดงไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2015 จากปัญหาด้านการกำกับดูแลด้านมาตรฐานความปลอดภัยการบินพลเรือน
การปลดธงแดงจะส่งผลดีต่อไทยทั้งในอุตสาหกรรมการบินและการท่องเที่ยว สำหรับอุตสาหกรรมการบิน การปลดธงแดงจะช่วยสร้างความเชื่อถือของหน่วยงานด้านการบินของไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวในการเลือกใช้สายการบินสัญชาติไทย อีกทั้งยังอาจส่งผลให้สำนักงานบริหารองค์กรการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) ปรับเพิ่มระดับมาตรฐานด้านการบินของไทยจากประเภท 2 ซึ่งห้ามการเปิดเส้นทางใหม่ในสหรัฐฯ เป็นประเภท 1 ดังเดิมก่อนถูกปักธงแดง สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาไทยมีแนวโน้มจะปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเดินทางในรูปแบบการเช่าเหมาลำ เนื่องจากหลายสายการบินที่ได้ AOC recertification สามารถกลับมาให้บริการได้แล้ว
ส่วนการแข่งขันระหว่างสายการบินมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้นจากการเปิดเส้นทางใหม่และการขาดแคลนบุคลากร รวมทั้งข้อจำกัดจากปัญหาด้าน time slot และความจุของสนามบินทั้งในไทยและต่างประเทศ อาจทำให้การเพิ่มความถี่และเปิดเที่ยวบินใหม่ไม่ราบรื่นนัก ในปัจจุบัน สนามบินในไทยหลายแห่งเริ่มมี time slot ที่หนาแน่นแล้ว ประกอบกับจำนวนผู้โดยสารที่เกินขีดความสามารถในการรองรับ ทำให้การเพิ่มความถี่และขยายเส้นทางอาจทำได้ไม่ง่ายนัก
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงาน จับตาท่าทีของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ FAA ภายหลัง ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทย คาดว่า จะส่งผลให้รายได้ของธุรกิจการบินในไตรมาสสุดท้ายของปีเพิ่มขึ้นกว่า 1,300 ล้านบาท
สำหรับผลกระทบที่มีต่อธุรกิจสายการบินของไทยที่เกิดจากการตั้งข้อจำกัดทางการบินนั้น เริ่มตั้งแต่ ICAO ได้มีคำเตือนเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยทางการบินของไทยให้แก่ภาคีสมาชิก ทราบ คือ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2558 รวมระยะเวลาทั้งสิ้น 2 ปี 7 เดือน คิดเป็นมูลค่าค่าเสียโอกาสของสายการบินของไทยทั้งสิ้นกว่า 11,300 ล้านบาท
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สถานการณ์การบินของไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2560 หลังจาก ICAO ปลดธงแดงหน้าชื่อประเทศไทยจะเติบโตอย่างคึกคักขึ้น จากเดิมที่ได้ทวีบทบาทอย่างน่าจับตามองในระยะที่ผ่านมา และผลดังกล่าวจะต่อเนื่องไปยังปี 2561 ให้ธุรกิจการบินของไทยเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ โดย คาดว่า ธุรกิจสายการบินของไทยในปี 2560 จะมีรายได้ประมาณ 278,900 ล้านบาท และน่าจะแตะ 294,500 ล้านบาท ในปี 2561 มากกว่ากรณีที่ ICAO ยังคงติดธงแดง คิดเป็นมูลค่า 1,300 และ 8,400 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับมุมมองทางฝั่งนักวิเคราะห์
บล.ยูโอบีเคย์ เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า การหลุดออกจากกลุ่มประเทศที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยทางการบิน หรือการปลดธงแดง ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ส่งผลบวกต่อ บมจ.เอเชีย เอวิเอชั่น (AAV), บมจ.การบินไทย (THAI), บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK)
บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ICAO ปลดล็อคธงแดงสำหรับประเทศไทยแล้ว (เว็บไซต์ ICAO) ประเด็นดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกสำหรับธุรกิจสายการบินของไทย หลังจากการขึ้นเครื่องหมายธงแดงบนหน้าเว็บไซต์ของ ICAO มาเป็นเวลากว่า 2 ปี โดยมีประเด็นความกังวลเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยในการให้บริการจากการตรวจสอบกรมการบินพลเรือนในอดีต
ทั้งนี้ การปลดล็อคธงแดงที่เกิดขึ้นถือว่าสอดคล้องกับคาดการณ์ ซึ่งจะทำให้โอกาสทางธุรกิจของสายการบินที่มีแผนเพิ่มเส้นทางบินและความถี่ไปเกาหลีและญี่ปุ่นมีมากขึ้นในอนาคต หลังถูกจำกัดการขยายธุรกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะ AAV และ NOK) นอกจากนี้มองว่า บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) จะได้ประโยชน์จากเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้นในอนาคต
ขอบคุณข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ, สำนักข่าวอินโฟเควสท์