#มือใหม่เริ่มลงทุน

มือใหม่เริ่มลงทุน - Sharpe Ratio มีดียังไง ใช้ประโยชน์อย่างไร ?

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
93 views

 

     หลายครั้งนักลงทุนที่ซื้อกองทุนรวม หรืออ่านรายงานทางการเงิน จากได้เห็นค่าตัวหนึ่งที่เรียกว่า sharpe ratio กัน แต่ส่วนใหญ่จะมาเป็นตารางกับมีค่าตัวเลข ซึ่งไม่ได้อธิบายว่าคืออะไร ใช้อย่างไร

 

          วันนี้เราจะมาคุยกันว่า ค่านี้คืออะไร ดูยังไง สำคัญตรงไหน ทำไมเห็นบ่อยจัง แต่บทความทางการเงินพื้นฐานมักไม่ค่อยพูดถึงนักลงทุนโดยส่วนใหญ่ มักจะวัดการดำเนินการของตัวเองด้วยการดูอัตราผลตอบแทนแต่ละปี โดยการนำมูลค่าเงินลงทุน ณ สิ้นงวด หารด้วย มูลค่าเงินลงทุนต้นงวด แล้ว ลบด้วย 1 (และหากมีการใส่เงินใหม่เพิ่มเติมระหว่างปี ก็ต้องปรับตัวหารให้สอดคล้องกันด้วย)

 

          ตัวอย่างเช่น ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2560 พอร์ตการลงทุนโดยรวมของเรามีมูลค่า 1,500,000 บาท (มูลค่าสิ้นงวด) ขณะที่เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มีมูลค่า 1,200,000 บาท (มูลค่าต้นงวด) หากไม่มีการเติมเงินใหม่ระหว่างปีเลย ก็ถือว่าพอร์ตนี้ให้ผลตอบแทน 25% ต่อปีแต่หากระหว่างปีมีการใส่เงินเข้ามา เช่น นำเงินใหม่ (ไม่ใช่เงินปันผลจากในพอร์ต) 100,000 บาท เข้ามาลงทุนเพิ่ม ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2559 ตัวหารก็จะเปลี่ยนไปจากเดิม ซึ่งคำนวณได้โดยวิธีเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักด้วยเวลา  

 

ดังนี้  1,500,000 บาท หารด้วย [(1,200,000 บาท x 1 ปี) + (100,000 บาท x 0.5 ปี)] แล้วลบด้วย 1 จะได้ผลตอบแทน 20% ต่อปี แต่ทั้งหมดเป็นการวัดความสามารถในการบริหารพอร์ตการลงทุน ที่มองเฉพาะอัตราผลตอบแทนเท่านั้น แต่ไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่มี

 

           ตัวอย่างเช่น มีนักลงทุน 2 คน คือ A และ B ซึ่งแต่ละคนมีพอร์ตการลงทุน ณ วันต้นงวด 1,000,000 บาทเท่ากัน A ลงทุนในSET INDEX ทั้งหมด ขณะที่ B ลงทุนใน Gold Fund ทั้งหมด ปรากฏว่าปลายปี  A และ  B มีมูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเป็น 1,200,000 บาท เท่ากันพอดี ถามว่า A และ B ใครบริหารพอร์ตได้เก่งกว่ากัน หากมองผิวเผิน อาจตอบว่า A และ B เก่งเท่ากัน เพราะได้ผลตอบแทน 20% ต่อปีเท่ากัน

 

แต่หากคำนึงถึงความเสี่ยงของหุ้นแต่ละตัวที่ A และ B รับไว้ด้วยแล้ว จะเห็นว่า B เก่งกว่ามาก เพราะว่า SET INDEX ของ A มีค่าความเสี่ยง 18.31% ต่อปี (ซึ่งในกรณีนี้คือค่า 250-Day Historical Volatility (“Hvol”) หรือเรียกอีกอย่างว่า Annualized Standard Deviation (“σ”) จากโปรแกรม Bisnews) ขณะที่ Gold Fund ของ B มีค่า Hvol เพียง 16.36% ต่อปี เท่านั้น

 

เมื่อเรานำเอาความเสี่ยง (หรืออาจเรียกว่าความผันผวน) เข้ามาพิจารณาด้วยแล้ว จะเห็นว่า B สามารถทำเงินได้เท่ากับ A ขณะที่ B ถือความเสี่ยงน้อยกว่า A พูดให้ง่ายขึ้นคือ  B มีความเสี่ยงน้อยกว่า A แต่ได้ผลตอบแทนเท่ากับ A … ดังนั้น B จึงเก่งกว่า A นั่นเอง ซึ่งแนวทางการวัดผลการดำเนินงานเช่นนี้ เรียกว่าเป็นการคำนวณหาค่า  “Sharpe Ratio” ซึ่งคิดค้นโดย Professor William Forsyth Sharpe แห่ง Stanford University ซึ่งสูตรการคำนวณโดยละเอียดได้แก่

 

[อัตราผลตอบแทนต่อปี –  อัตราดอกเบี้ยที่ปราศจากความเสี่ยง] / ความเสี่ยง  ซึ่งในที่นี่คือ Hvol หรือ Annualized Standard Deviation

หรือ S = [R – Rf]/ σ

 

    S: Sharpe ratio

  • R: ผลตอบแทนการลงทุนในระยะ 1 ปี
  • Rf: อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี ผลตอบแทนที่ไม่มีความเสี่ยง
  • σ: ความผันผวนที่คำนวณจากสินทรัพย์ในพอร์ต

 

 

             การคำนวณ σ ของพอร์ตที่มีสินทรัพย์หลายประเภท หากจะคิดอย่างละเอียดแล้ว ต้องใช้สมการซับซ้อน และจะได้ค่าต่ำกว่าการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักแบบนี้  (เป็นผลจากการกระจายความเสี่ยงที่อยู่สูตรในสมการ) แต่เพื่อความง่ายและไม่ทำให้สับสน    ต่อไปหากเราได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องผลการดำเนินงานของพอร์ตเรากับเพื่อนนักลงทุนก็สามารถเทียบกันได้แล้วว่า หากเพื่อนได้ผลตอบแทนใกล้เคียงกันกับเรา แต่เรามี Sharpe Ratio สูงกว่า ก็แปลว่าเราน่าจะบริหารความเสี่ยงของพอร์ตได้ดีกว่านั่นเอง

รูปภาพจาก : http://www.wealthmagik.com

 

Sharpe Ratio ยังมีข้อสังเกตในการใช้งาน

1. ใช้วัดผลการดำเนินงานระหว่างพอร์ตที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเท่านั้น หากพอร์ตมีสินทรัพย์ต่างกันมาก เช่น พอร์ตที่มีแต่กองทุนรวมตลาดเงิน      กับ พอร์ตที่มีแต่หุ้น การเทียบกันด้วย Sharpe Ratio อาจไม่ได้ประโยชน์

2. อัตราส่วนของผลตอบแทนส่วนเกินจากการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปราศจากความเสี่ยงต่อความผันผวน ค่ายิ่งมากยิ่งดี

3. หากคำนวณได้ Sharpe Ratio ติดลบ แปลว่าการลงทุนแบบไม่มีความเสี่ยง (เช่นในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น) ยังดีกว่าพอร์ตการลงทุนของเราเสียอีก

 

             ทั้งหมดนี้ คือ เรื่องของ Sharpe Ratio เพื่อเป็นความเข้าใจเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นการซื้อกองทุนรวม การอ่านบทวิเคราะห์ทางการเงิน นำไปสู่กำไรจากการลงทุนต่อไป

 

 

 

- Yoo -

 

อ้างอิง : เว็บไซต์ Fundmanagertalk , Morningstar


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง