ตั้งแต่บทความแรกของผมเกี่ยวกับ Bitcoin ที่เขียนไว้ที่ stock2morrow เมื่อต้นเดือนมิถุนายน ราคาของ Bitcoin ได้ทยานขึ้นมาจาก 2500 ดอลลาร์ ถึง 4400 แล้ว (ประมาณ 76% ภายในสองสามเดือน)
แม้ว่าช่วงที่ผ่านมานี้ตลาดเงินดิจิทัลจะถูกทดสอบด้วยหลายเหตุการณ์ เช่น การ crash ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ส่งราคา Bitcoin ร่วงลงไปเกือบครึ่ง หรือการโหวตแยกการเชื่อมต่อโหนดของ Bitcoin เมื่อต้นเดือนสิงหาคม ดูเหมือนว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนในแนวโน้มของสกุลเงินดิจิทัลเหล่านี้ก็ยังคงร้อนแรงต่อไป
จึงเกิดคำถามน่าคิดว่า นอกจากการซื้อ Bitcoin ไปเก็งกำไรแล้ว มันยังพอมีเหตุผลอื่นหรือไม่? เนื่องจากการใช้ Bitcoin เพื่อจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันก็ยังไม่ค่อยสะดวกนัก
หนึ่งในเหตุผลที่ “เป็นไปได้” และ “ควรถูกทดสอบ” คือ Bitcoin (และเงินดิจิทัลอื่นๆ) อาจมีคุณสมบัติที่น่าดึงดูดในสายตานักลงทุนที่ต้องการ hedge ความเสี่ยงอื่นๆ ที่สามารถกระทบสินทรัพย์หลักๆ ในพอร์ตได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อโครงสร้างของระบบเงินดิจิทัลเหล่านี้ไม่ได้อิงกับตัวแปรเศรษฐกิจจริงเท่ากับสินทรัพย์อื่นๆ หรือค่าเงินทั่วไป จึงเป็นไปได้ว่าทิศทางของราคา Bitcoin อาจมี “ความตัดขาด” กับทิศทางของราคาสินทรัพย์อื่นๆ ที่พวกเราถือกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งก็ได้มีการวิเคราะห์แบบไม่เป็นทางการแล้วพบว่า Bitcoin มี correlation (ค่าสหสัมพันธ์) ที่ต่ำมากกับสินทรัพย์ฝรั่ง และทองคำ (https://www.signalplot.com/what-is-bitcoins-correlation-with-other-financial-assets/)
ด้วยความที่ผู้เขียนสงสัย และเห็นว่ายังไม่มีใครทำการวิเคราะห์กับหุ้นไทย ผู้เขียนจึงไปดึงข้อมูลราคา Bitcoin และข้อมูลหุ้นไทยรายวันทั้งหมดตั้งแต่ต้นปี 2556 ถึงเมื่ออาทิตย์ที่แล้วมาวิเคราะห์กันให้ดูว่า “ความตัดขาด” หรือ “ความไม่สัมพันธ์” (correlation ต่ำ) ที่ว่านี้มันจริงหรือไม่ในบริบทของตลาดหุ้นไทย
มีความตัดขาดกับตลาดหุ้นจริงๆ
กราฟ histogram ด้านบนแสดงให้เห็นถึงจำนวนหุ้นไทย (แกน y) ตามค่า correlation ระหว่างผลตอบแทนรายสัปดาห์ของ Bitcoin กับหุ้นไทยทั้งหมดในตลาด จะเห็นได้ว่าเกิน 90% ของหุ้นไทยมีค่า correlation กับ Bitcoin อยู่ที่ระหว่าง -0.15 กับ 0.15 ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ (ทบทวนความรู้สถิติ: ค่า correlation มากกว่า 0 แปลว่า Bitcoin กับหุ้นแปรไปด้วยกัน ต่ำกว่า 0 แปลว่าไปกันคนละทาง ยิ่งค่า correlation ใกล้ -1 หรือ 1 ยิ่งแปลว่าความสัมพันธ์นี้รุนแรง แต่ยิ่งใกล้ 0 ยิ่งแปลว่าไม่มีค่อยมีความสัมพันธ์เชิง linear)
เพื่อความเที่ยงตรง ผู้เขียนถ่างข้อมูลผลตอบแทนเหล่านี้ให้เป็นหน้าต่าง rolling average ย้อนหลัง 1 ปี แล้วหาค่า correlation ใหม่ระหว่าง Bitcoin กับหุ้นใน 6 อุตสาหกรรมสำคัญของประเทศไทยมาแสดงให้ดูในกราฟด้านบน แกน y คือค่า correlation ส่วนแกน x คือเวลา แต่ละเส้นเป็นค่า correlation สำหรับหุ้นจากแต่ละอุตสาหกรรม
พบว่า “ความตัดขาด” นี้มีให้เห็นในหุ้นจากทุกอุตสาหกรรม โดยที่ค่า correlation เหล่านี้มักอยู่ในกรอบ -0.2 กับ 0.2 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าต่ำ ค่า correlation เฉลี่ยจากทุกปีและหุ้นทุกอุตสาหกรรมก็อยู่ที่เพียงแค่ -0.05 เท่านั้น
สินทรัพย์ที่เป็นตัวเป็นตน?
จากการวิเคราะห์ข้อมูลแบบไม่เป็นทางการครั้งนี้ บวกกับหลักฐานทางวิชาการที่พบว่า Bitcoin ไม่ค่อยเคลื่อนไหวตาม fundamentals อื่นๆ ในระบบเศรษฐกิจ(https://arxiv.org/ftp/arxiv/papers/1405/1405.4498.pdf) ผู้เขียนคิดว่าวันที่นักลงทุนทั่วไปจะเริ่มทยอยเสริมพอร์ตด้วยสกุลเงินดิจิทัลเพื่อบริหารความเสี่ยง (โดยอาจจะหวังเก็งกำไรนิดหน่อย) คงจะมาในอีกไม่นาน
ทั้งนี้ต้องไม่ลืมว่าแม้ว่าเราจะเห็นหลักฐานของความตัดขาดนี้จริง ราคาของ Bitcoin หรือ เงินดิจิทัลอื่นๆ ยังไงก็หนีไม่พ้นกลไกอุปสงค์และอุปทานและความเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงกับตัวมันเอง (ความสนใจของคนทั่วไป ปริมาณการเทรดต่อวัน การเปลี่ยนแปลงของระบบขุด ความปลอดภัยของระบบ ข่าวปลอม ฯลฯ) อีกทั้งก็ยังต้องดูว่าคุณสมบัติที่ดีข้อนี้มันคุ้มกับความผันผวนที่ยังคงสูงกว่าสินทรัพย์อื่นๆ หรือไม่นะครับ
ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com