#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

เจาะหุ้นลงทุน "PB" หุ้น 10 เด้ง ภายใน 10 ปี ธุรกิจขนมปังฟาร์มเฮาส์

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
135 views

PB มีธุรกิจที่ไม่ซับซ้อน เข้าใจง่าย แต่กลับสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นอย่างงดงาม
(ที่มาภาพ : รายงานประจำ PB ปี 2559)

 

ในตลาดหุ้นมีหุ้นอยู่หลายตัวที่ไม่เป็นที่นิยมเท่าไรนัก แต่หุ้นที่ไม่นิยมมักจะสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสวยงาม ไม่เว้นแม้แต่หุ้นที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่าง PB หรือ บริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน)

 

พูดมาถึงตรงนี้ บางคนอาจจะยังไม่รู้ว่า PB ทำธุรกิจอะไร แต่ถ้าพูดถึงขนมปังอันโด่งดังอย่าง "ฟาร์มเฮาส์" เชื่อว่าทุกคนต้องร้อง อ่อ! เป็นแน้แท้ หุ้นตัวนี้มีอะไรดี ธุรกิจขายขนมปังแค่นี้จะทำให้ผู้ถือหุ้นรวย 10 เท่าภายใน 10 ปีได้จริงเหรอ...

 

แต่เดิมฟาร์มเฮาส์เป็นธุรกิจในเครือของสหพัฒนพิบูลย์ ก่อตั้งโดยดร.เทียม โชควัฒนา เพื่ออุดหนุนสินค้าเกษตรกรชาวไทยที่สามารถผลิตสินค้าเกษตรจำนวนมากแต่ไม่รู้จะนำมาแปรรูปเพื่อขายได้อย่างไร ดร.เทียมเลยเปิดบริษัททำขนมปังโดยมีจุดประสงค์เพื่ออุดหนุนสินค้าเกษตรของคนไทย เพื่อนำมาแปรรูปเป็นขนมปังอีกทีหนึ่ง บริษัทประสบความสำเร็จอย่างสูงด้วยวัตุดิบที่มีคุณภาพ สดใหม่อยู่เสมอ รสชาติอร่อย ทำให้อยู่คู่กับชาวไทยมาได้อย่างยาวนาน

 

ธุรกิจของ PB ทำตั้งแต่ขนมปังเปล่าเพื่อส่งร้านอาหาร ร้านเบเกอร์รี่ต่ออีกทีหนึ่ง เช่น KFC Mcdonald Pizza Hut เดลี่ควีน เชสเตอร์ ซิสเล่อร์ ขนมปังสำเร็จรูปเพื่อวางขายในโมเดิร์นเทรดอย่างเซเว่น โลตัส บิ๊กซี รวมถึงเปิดร้านขายขนมเองเลยโดยมีแบรนด์ Deliya!(เดลิย่า) และ Madame Marco นอกจากนี้ยังเปิดร้านอาหารญี่ปุ่นหมูทอดทงคัตสึอย่าง"ซาโบเตน"

 

อัตราส่วนทางการเงินอยู่ในระดับสูง การซื้อขายในราคาพรีเมี่ยมไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คุ้มค่าสำหรับนักลงทุนที่ "กำลัง" จะเข้าซื้อหรือไม่ นั้นเป็นคำถามสำคัญที่นักลงทุนจะต้องตอบด้วยตัวเอง
(ที่มาภาพ : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)

 

พูดในเรื่องพื้นฐาน และการทำกำไรนั้นมีความสวยงามมาก ด้วย ROE ระดับแตะ 24% และ Net Margin (อัตรากำไรสุทธิ) ที่ 17% ถือว่าเป็นหุ้นเกรด A+ ที่แม้แต่บริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันยังทำได้ไม่ถึงขนาดนี้ ที่สำคัญ PB เป็นหุ้นที่ไม่มีหนี้เลย อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้นระดับ 0.2 เท่า น้อยมากๆ หนี้สินระยะยาวแตะระดับ 60 ล้านบาท ในขณะที่กำไรสะสมแตะระดับ 5.1 พันล้านบาท ทนทานได้ทุกสภาวะเศรษฐกิจ เพราะธุรกิจที่ไม่ได้กู้เงินมาเป็นจำนวนมาก จะไม่ได้รับแรงกดดันเวลาเศรษฐกิจเป็นขาลง บริษัทมีสินทรัพย์ 7 พันล้าน แต่มีรายได้รวมระดับ 6-7 พันล้าน นั้นแสดงว่าบริษัทดึงศักยภาพของบริษัทมาใช้เต็ม 100%

 

อัตราส่วน P/E ที่แตะ 20 เท่า และ P/BV ที่ 4.2 เท่า และปันผลประมาณ 2.7% ก็เดาได้ทันทีว่า PB ไม่ใช่หุ้นถูกอะไรมากนัก การซื้อหุ้นที่ราคา 60 บาท เป็นการซื้อในราคาพรีเมียมอยู่พอสมควร แต่ก็ไม่แปลกใจอะไรมากนัก เพราะหุ้นระดับนี้จะซื้อขายในราคาถูกๆได้อย่างไร แถมกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่อย่างกลุ่มสหพัฒนพิบูลย์ถือหุ้นรายใหญ่อีกด้วย ไม่ได้ปล่อยออกมาสู่ตลาดมากนัก ราคาหุ้นจึงแทบจะไม่ลงเลยไม่ว่าตลาดหุ้นไทยจะผันผวนมากแค่ไหน ราคาการแกว่งของหุ้น PB ค่อนข้างนิ่ง แต่นั้นก็คือปัญหาที่ใหญ่มากของ PB นั้นคือปัญหาในเรื่องของสภาพคล่องของหุ้นที่ไม่ค่อยจะมีมากนัก นั้นหมายถึงนักลงทุนที่เข้าไปซื้อ แต่ยากแก่การขายเพราะวอลุ่มบาง จึงไม่เป็นที่โปรดปรานสำหรับนักลงทุนขาใหญ่ของตลาดหุ้นไทย ซื้อแล้วจะไปขายตรงไหน?

 

สัดส่วนรายได้ของ PB เบเกอร์รี่ค้าส่งมีสัดส่วนมากสุด และส่วนใหญ่แล้วมาจากร้านเซเว่น
(ที่มาภาพ : รายงานประจำ PB ปี 2559)

 

ในปี 2559 PB มีรายได้จากธุรกิจเบเกอร์รี่ค้าส่ง 6.9 พันล้าน คิดเป็นสัดส่วน 91% แบ่งเป็นขนมปังแผ่น 3.1 พันล้าน ขนมปังพร้อมทาน 2.4 พันล้าน เค้ก 1.1 พันล้าน และอื่นๆอีก 253 ล้านบาท

ธุรกิจร้านขนม-เบเกอร์รี่ค้าปลีก มีรายได้ 155 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2% แบ่งเป็นร้านเดลิย่า 56 ล้าน มาดามมาร์โก้ 85 ล้านบาท และขนมปังรถเข็นกู๊ดมอร์นิ่งฟาร์มเฮ้าส์ 12 ล้านบาท

ธุรกิจทำเบเกอร์รี่ส่งร้านอาหาร ฟาสต์ฟู้ด มีรายได้ 461 ล้านบาท คิดเป็น 6% แบ่งเป็นส่งร้านอาหาร์และฟาสต์ฟู้ด 407 ล้านบาท และผลิตภัณฑ์แป้งชุบทอด 53 ล้านบาท 

ธุรกิจส่งออก มีรายได้ 5 ล้านบาท และรายได้จากแหล่งอื่นๆอีก 71 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 1%

 

ไม่เพียงแต่รายได้เท่านั้นที่เติบโต แต่กำไรของบริษัทก็เติบโตขึ้นมากด้วย
(ที่มาภาพ : รายงานประจำ PB ปี 2559)

 

ในอดีตที่ผ่านมา PB มีการเติบโตของรายได้ เฉลี่ยแล้วจะโตอยู่ที่ประมาณ 7-8% ไม่ใช่แค่รายได้อย่างเดียว แต่กำไรก็เติบโตขึ้นด้วยปีละ 10-15% ไม่ได้เหมือนธุรกิจบางธุรกิจที่ผู้บริหารมุ่งเน้นแต่ในเรื่องของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่ไม่สนใจในเรื่องของกำไร หมายถึงรายได้เพิ่ม แต่รายจ่ายก็เพิ่มขึ้นด้วยนะ เวลาหักลบถึงผู้ถือหุ้นแล้วกลับน้อยลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ... 
PB มีรายได้และกำไรที่โต ส่งผลให้ราคาหุ้นค่อยๆวิ่งขึ้นตามผลประกอบการของบริษัท ในปี 2549 ราคาหุ้น PB อยู่ที่ 7 บาท และในปี 2559 ราคาหุ้น PB อยู่ที่ 70 บาท แบบนี้ไม่เรียกว่าหุ้น 10 เด้ง ภายใน 10 ปีได้อย่างไร ....

 

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า PB มีแหล่งรายได้ขนาดใหญ่ที่ผูกติดอยู่กับเจ้าใหญ่เพียงเจ้าเดียวอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น ที่มียอดขายสูงถึง 40% ของรายได้จากเบเกอร์รี่ค้าส่ง ถ้า PB เกิดมีอะไรผิดพลาดกับเซเว่นขึ้นมา รายได้อาจจะไม่เหมือนเดิม นั้นคือประเด็นเสี่ยงสำคัญที่นักลงทุนต้องคาดการณ์ให้ได้ว่าความสัมพันธ์ระหว่าง PB และ CPALL จะดีเหมือนเดิมหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องต้นทุนวัตถุดิบที่มีความผันผวนเช่นแป้งสาลี และไข่ไก่ ไม่ใช่ปัญหาที่ใหญ่และบริษัทก็สามารถจัดการได้อยู่แล้ว

 

ราคาหุ้นวิ่ง 10 เท่า ภายใน 10 ปี !
 

หุ้นเกรดดี ย่อมซื้อขายกันในราคาพรีเมี่ยม แต่สำหรับ PB แล้ว ราคาแพงไปหรือไม่อยู่ที่นักลงทุนเป็นคนตัดสินใจ ธุรกิจธรรมดาที่ทำกำไรได้อย่างงดงาม ROE และอัตรากำไรสุทธิที่สูง ธุรกิจมีหนี้น้อยมาก และมีรายได้จากหลากหลายช่องทาง แต่แหล่งของรายได้ส่วนใหญ่แล้วมาจากการค้าส่งที่สูงถึง 90% และในนั้นก็มาจากเซเว่นประมาณ 40% ถือว่ามีอิทธิพลกับรายได้ของ PB พอสมควร อีกทั้งวอลุ่มซื้อขายในแต่ละวันที่เบาบางมาก ดังนั้นหุ้น PB เหมาะแก่การลงทุนระยะยาวกินปันผล มากกว่าจะคาดหวังส่วนต่างราคาหุ้น

-----------------------------------------
เขียนโดย SiTh LoRd PaCk

หมายเหตุ : ข้อมูลในนี้เป็นข้อมูลไว้ใช้ในการประกอบการตัดสินใจลงทุนเท่านั้น เป็นทัศนะความคิดส่วนตัวของผู้เขียนเอง มิได้มีวัตถุประสงค์เชิญชวนหรือชี้นำหลักทรัพย์โดยเฉพาะแต่อย่างใด โดยที่ข้อมูลนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ภายหลังวันดังกล่าวนี้


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง