#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

10 ปีวิกฤต “ซับไพร์ม” โลกยังเต็มไปด้วย หนี้ !!

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
362 views

(ภาพ : ประชาชาติธุรกิจ)

 

จุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลกเมื่อราว 10 ปีก่อน เริ่มต้นในทันทีที่ธนาคารมหึมาอย่าง เลห์แมน บราเธอร์ส ล้มทั้งยืน สัญญาณหายนะทางการเงินโลกเริ่มต้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคมเมื่อปี 2007 ไม่ใช่ในสหรัฐอเมริกา แต่เป็นในฝรั่งเศส เมื่อ “บีเอ็นพี พาริบาส์” ธนาคารใหญ่ของประเทศ ประกาศการ “อายัดทรัพย์สิน” ทั้งหมดของกองทุนบริหารความเสี่ยง หรือเฮดจ์ฟันด์ 3 กองทุน ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ในตลาดอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอเมริกาอย่างหนัก จนเหตุการณ์ลุกลามต่อมา

 

ผ่านไป 10 ปี หลังจากจุดเริ่มต้นของ "ดราม่าทางการเงิน" ครั้งใหญ่ คำถาม คือ ระบบการเงินและโลกทั้งใบปลอดภัยขึ้นหรือไม่และอย่างไร ?

 

หากพิจารณากันจริงจังและถี่ถ้วนมากขึ้น ปัจจัยบางอย่างที่ลึก ๆ แล้วเคยเป็นสาเหตุของวิกฤตเมื่อ 10 ปีก่อนก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน สาเหตุเป็นเพราะ “พาราดอกซ์ ออฟ โพลิซี” หรือความขัดแย้งกันเองเชิงนโยบาย ที่โลกนำมาใช้เพื่อแก้วิกฤตดังกล่าว..

 

ประเทศส่วนใหญ่แก้ปัญหาด้วยการหั่นอัตราดอกเบี้ยลงจนแทบไม่หลงเหลือ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และป้องกันไม่ให้ภาวะถดถอยที่เกิดขึ้นจากวิกฤตกลายเป็นภาวะเงินฝืดที่แก้ไขได้ยากเย็น

 

 

หนทางเยียวยาดังกล่าวควรเป็นนโยบายฉุกเฉิน ที่ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์บังคับระยะสั้น ๆ เท่านั้น..แต่ 10 ปีผ่านไป อัตราดอกเบี้ยในหลายประเทศยังต่ำเตี้ย บางประเทศอย่างญี่ปุ่น ถึงกับต้องงัดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นแบบติดลบมาใช้ ในอังกฤษ อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ที่ 0.25 เปอร์เซ็นต์ ในสหรัฐอเมริกา ก็อยู่เพียงแค่ระหว่าง 1 เปอร์เซ็นต์ ถึง 1.25 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

 

ในเวลาเดียวกัน ภาวะหนี้สินกลับไม่ได้ผ่อนคลายลง สัดส่วนของเงินที่ครัวเรือนตัดสินใจกันไว้เพื่อการออมลดลง สินเชื่อแบบง่าย ๆ และถูก ๆ กลายเป็นเรื่องปกติสามัญ พร้อม ๆ กับสภาวะดังกล่าวนั้น การขยายตัวของเศรษฐกิจก็ยังคงอยู่ในระดับอ่อนแอเกินไป จนผู้ที่รับผิดชอบไม่เต็มใจเสี่ยงกลับไปใช้เงื่อนไขทางการเงินเหมือนที่เคยใช้กันในภาวะปกติโดยเร็ว

 

ทั้งหมดนั้นกลายเป็น “สูตรสำเร็จ” อันเป็นที่มาของสภาพที่ผู้เชี่ยวชาญทางการเงินเรียกว่า “ฟองสบู่หนี้” ซึ่งเกิดขึ้นให้เห็นกันในหลายประเทศ ทั้งหนี้สินภาครัฐ หนี้สินภาคเอกชน หรือในบางกรณีเป็นหนี้สินครัวเรือน เพราะยังคงต้องอาศัย “หนี้สิน” เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจกันต่อไป

 

ตราบใดที่หลายต่อหลายประเทศยังหาเครื่องจักรเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างดีพอแทนที่หนี้สินได้ ตราบนั้นวิกฤตโลกระลอกใหม่ ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา !

 

ที่มา : https://www.prachachat.net/world-news/news-19676


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง