#ข่าวหุ้นธุรกิจการลงทุน

G-20 กับเกมกีดกันการค้าของทรัมป์

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
293 views

G-20 กับเกมกีดกันการค้าของทรัมป์

หลังจากที่การประชุม G-20 เสร็จสิ้นไปได้ไม่กี่วัน  เราจะได้เห็นกันว่าทรัมป์จะเริ่มเปิดศึกการค้าโลกโดยการเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กกล้าขึ้นมาได้มากถึง 20% จริงๆ หรือไม่ ในอีกไม่กี่วันนี้

ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศที่ส่งออกเหล็กกล้าหลักสำหรับสหรัฐฯ (แคนาดา บราซิล และ เกาหลีใต้) แต่ที่ประเด็นนี้สำคัญเป็นเพราะว่าหลายคนมองว่าการตัดสินใจของทรัมป์ครั้งนี้เป็นเหมือนการเปิดศึกการค้าโลกอย่างเป็นทางการ จึงไม่แปลกที่เราได้เห็นการตักเตือนให้ทรัมป์แตะเบรคกีดกันทางการค้าโดยผู้นำเศรษฐกิจกลุ่ม G-20 แทบจะทุกคน ณ การประชุม G-20 ครั้งล่าสุดเมื่ออาทิตย์ก่อน  และหากกลุ่ม G-20 ที่เหลือเริ่มทำการโต้กลับขึ้นมาแล้วเกิดสงครามการค้าโลกเช่นนั้นขึ้นมาจริงๆ ก็จะเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเนื่องจากเศรษฐกิจกลุ่ม G-20 เป็นถึงกว่า 78% ของมูลค่าการค้าโลกทั้งหมด

 

บทความนี้จะพาท่านผู้อ่านไปสำรวจข้อมูลมาตรการกีดกันทางการค้าและรายงานประจำครึ่งปีของ Global Trade Alert ที่สะท้อนหลายประเด็นที่น่าคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของสหรัฐฯและ G-20 หลังชัยชนะของทรัมป์ครับ

 

1.พฤติกรรมกีดกันทางการค้าของ G-20 ต่อประเทศทั่วโลก

ภาพด้านบนมากจากรายงานครึ่งปีแรกของปี 2017 โดย Global Trade Alert (เป็นโปรเจ็คที่เริ่มโดย Think Tank สหรัฐฯ ชื่อดัง The Center for Economic and Policy Research) แสดงให้เห็นถึงจำนวนมาตรการกีดกันทางการค้าที่กำลังดำเนินอยู่โดยเศรษฐกิจกลุ่ม G-20 ต่อแต่ละประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน 

 

นิยามของมาตรการกีดกันทางการค้าในรายงานนี้ถือว่าค่อนข้างกว้างกว่าแค่นโยบายจำพวกการขึ้นภาษีนำเข้าที่ชอบเป็นข่าวมาก  การอุดหนุนบริษัทส่งออกในประเทศตัวเอง ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม หรือ มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (anti-dumping) ก็ถือว่าเป็นการกีดกันทางการค้าอย่างหนึ่งที่อาจถูกมองข้ามในรายงานจากแหล่งอื่นๆ

 

ข้อสังเกตแรกคือจะเห็นได้ชัดว่า G-20 กีดกันกันเองเสียมาก เหตุผลหนึ่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับว่าเป็นสมาชิก G-20 หรือไม่คือการที่ยิ่งเป็นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ยิ่งถูกกีดกันบ่อย (สียิ่งเข้ม)  เนื่องจากเศรษฐกิจขนาดใหญ่มักมีการค้าขายสินค้าที่หลากหลายประเภทและมักมีคู่ค้าจำนวนมาก จึงเป็นธรรมดาที่จะมีโอกาสถูกกีดกันได้มากกว่าเศรษฐกิจขนาดเล็กที่ไม่ค่อยค้าขายระหว่างประเทศมากนัก

 

ข้อสังเกตที่สองคือมีบางประเทศที่ไม่ได้มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ขนาดนั้นแต่ยังถูกกีดกันบ่อยครั้งแบบผิดปกติ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น  จากข้อมูลชุดนี้ประเทศไทยถูกกระทบจากมาตราการกีดกันทางการค้าของเศรษฐกิจกลุ่ม G-20 กว่า 1828 มาตรการ ในขณะที่ถูกกระทบจากมาตรการเปิดเสรีทางการค้าเพียง 728 มาตการ  ดูแล้วก็น่าแปลกใจเมื่อเทียบกับเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าเรามากๆ อย่างบราซิลหรือออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี หากดูข้อมูลให้ลึกขึ้นจะพบว่าอุตสาหกรรมที่ถูกกีดกันบ่อยที่สุดคือ อุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งมีมูลค่าส่งออกไม่ถึง 1% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย จะมีที่น่ากังวลกว่าก็คือมาตรการกว่า 133 มาตรการที่กระทบอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งถือเป็นประมาณ 10% ของการส่งออกของเรา

 

2.ข้อมูลฟ้องว่าทรัมป์ขู่แล้วทำ ส่วน G-20 ขู่แต่ไม่โต้ตอบ

เราคงจำกันได้ดีว่าโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศไว้ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้งสหรัฐฯ เมื่อท้ายปีก่อนแล้วว่าจะดำเนินนโยบายการค้าแบบ “America First”  ที่จะเอาผลประโยชน์ของสหรัฐฯ เป็นที่ตั้งหลักเท่านั้น ไม่ได้แสดงความต้องการในการผลักดันให้เกิดความคืบหน้าในเรื่องการค้าเสรีใดๆ ทั้งสิ้น  ซึ่งตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาสหรัฐฯ ก็ถูกผู้นำจากหลายประเทศในกลุ่ม G-20 ต่อว่าอย่างสม่ำเสมอ

ล่าสุดประธานคณะกรรมการยุโรปนาย Jean-Claude Juncker ให้สัมภาษณ์หลังการประชุม G-20 เมื่ออาทิตย์ที่แล้วว่าหากสหรัฐฯ ยังคงจะกีดกันทางการค้า จะถึงคราวที่เราจะโต้กลับ (“We will respond with countermeasures if need be, hoping that this is not actually necessary”)  คำเตือนนี้เป็นคำเตือนประเภทที่เราเคยได้ยินกันมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของการดำรงตำแหน่งของทรัมป์แล้ว

แต่เมื่อไปดูข้อมูลพฤติกรรมกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ และของเศรษฐกิจ G-20 อื่นๆ จะพบว่าสหรัฐฯ มีการปรับเปลี่ยนทิศทางนโยบายการค้าแบบที่ทรัมป์เคยพูดไว้จริง แต่ไม่มีหลักฐานเลยว่าเศรษฐกิจ G-20 ที่เหลือได้ทำการตอบโต้ภายในครึ่งปีที่ผ่านมา

จากภาพด้านบนจะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการกีดกันทางการค้าที่กระทบเศรษฐกิจ G-20 มากครั้งขึ้นอย่างเห็นได้ชัด (มากขึ้นประมาณ 26%) ในขณะที่มาตรการส่งเสริมการเปิดเสรีนั้นน้อยลง

 

ในทางกลับกัน ภาพด้านบนสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่ม G-20 อื่นๆ นอกจากสหรัฐฯ ไม่ได้โต้ตอบกับทรัมป์เลย อีกทั้งยังมีการหั่นลดมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งต่อสหรัฐฯ (สีฟ้า) และต่อสมาชิกในกลุ่ม (สีเขียว) ด้วยซ้ำ

 

ในขณะที่กลุ่มประเทศ G-20 ในยุโรปกำลังเชิดชูความสำเร็จของข้อตกลงการค้าใหม่กับญี่ปุ่น การที่ทรัมป์ขู่แล้วทำแต่ G-20 ขู่โดยไม่เคยโต้ตอบก็ทำให้บางคนเริ่มหวั่นใจเหมือนกันว่าทรัมป์อาจไล่บี้เศรษฐกิจอื่นๆ ในเกมที่ตนเองถนัดแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนความเป็นปึกแผ่นในอุดมคติเกี่ยวกับการค้าเสรีในกลุ่มเศรษฐกิจ G-20 ที่เหลือเริ่มแตกแยก

 

อ้างอิง: http://www.globaltradealert.org/

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  ครับ


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง