หุ้น KTC หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผชิญกับแรงขาย ราคาหุ้นลดลง ทำจุดต่ำสุดในรอบ 1 ปี จนเกือบหลุดระดับ 100 บาท จากประเด็นกังวลแบงก์ชาติเตรียมออกเกณฑ์ใหม่คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต
โดยเบื้องต้นจะมีการทบทวนปรับเปลี่ยนเกณฑ์เพดานการปล่อยเงินกู้ จากเดิม 5 เท่าของรายได้ต่อเดือน เปลี่ยนเป็นธุรกิจบัตรเครดิตกำหนดให้มีผู้รายได้ต่อเดือน 15,000-30,000 บาท ได้รับวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ แต่ถ้ามีรายได้เดือนละ 30,000-50,000 บาท วงเงินไม่เกิน 3 เท่าของรายได้ และรายได้ต่อเดือน 50,000 บาทขึ้นไป 5 เท่าของรายได้ และไม่ได้ควบคุมจำนวนสถาบันการเงินออกบัตรเครดิต
สำหรับสินเชื่อบุคคลกำหนดเงื่อนไขให้มีผู้มีรายได้ต่อเดือนไม่เกิน 30,000 บาท วงเงินสินเชื่อสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่าของรายได้ และสถาบันการเงินปล่อยกู้ได้สูงสุด 3 แห่ง หรือคิดเป็น 4.5 เท่าของรายได้ ขณะที่ผู้มีรายได้ต่อเดือนที่ 30,000 บาทขึ้นไปยังสามารถอนุมัติสินเชื่อได้ 5 เท่าของรายได้
งบการเงิน KTC
ก่อนหน้านี้ กำไรของ KTC เติบโตมาต่อเนื่องทุกปี จาก 1,282 ล้านบาท เมื่อปี 56 เพิ่มขึ้นเป็น 1,754 ล้านบาท ในปี 57 ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น 2,072 ล้านบาท และล่าสุดยังเติบโตขึ้นมาเป็น 2,494 ล้านบาท ในปี 59 สำหรับไตรมาสแรกของปี 60 นี้ ทำได้ 732 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มกำไรในปี 60 นี้ คุณระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC คาดว่ากำไรปีนี้จะเติบโต 10% จากสินเชื่อบุคคลที่เติบโตดี แต่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตมีโอกาสต่ำกว่าเป้าหมายที่ 15% หลังไตรมาส 1/60 ทำได้เพียง 8% แต่ก็ยังสูงกว่าอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ที่ 3.9%
กราฟ KTB (Day) 4/7/17
ด้วยการเติบโตที่ผ่านมาส่งให้ราคาหุ้นของ KTC ช่วง 1 ปีกว่ามานี้ เป็นขาขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาหุ้นวิ่งจาก 80 บาท ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ 156.50 บาท ก่อน sideway down หลุดลงมา ฉะนั้นการที่ราคาหุ้นร่วงลงมากว่า 40% ทำให้นักลงทุนหลายคนเริ่มมองโอกาสในการเข้าซื้อ เพียงแต่ว่าพื้นฐานของบริษัทจะยังเป็นเช่นเดิมหรือไม่ ?
มุมมองฝั่งนักวิเคราะห์วิจัย บล.
คุณวรุตม์ ศิวะศริยานนท์ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.เอเชีย เวลท์ ซึ่งบอกว่าเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะเข้ามาคุมเข้มสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ยังไม่ได้ออกมาอย่างเป็นทางการ แต่เป็นเพียงการรายงานผ่านสื่อเท่านั้น
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ได้นำเงื่อนไขดังกล่าวมาใส่ไว้ในประมาณการของ KTC แล้ว ซึ่งพบว่าถ้าหากบังคับใช้จะกระทบต่อกำไรสุทธิปีนี้และปีหน้าลดลงอีก 9-20% โดยเบื้องต้นจึงได้ปรับลดประมาณการกำไรปีนี้ลงเหลือ 2.7 พันล้านบาท จากเดิม 3 พันล้านบาท และในปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 2.9 พันล้านบาท จากเดิม 3.6 พันล้านบาท ส่งผลให้ราคาเหมาะสมลดลงเหลือ 137 บาท/หุ้น จากเดิมอยู่ที่ 170 บาท/หุ้น
สำหรับเกณฑ์ดังกล่าว คุณวรุตม์มองว่าในระยะยาวจะส่งผลดีต่อภาพรวมอุตสาหกรรมเพราะเป็นการควบคุมปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนที่เร่งตัวขึ้นมาสูง ขณะที่ปัจจุบันสินเชื่อบุคคลส่วนใหญ่จะไม่มีหลักประกัน จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเป็นหนี้เสียในอนาคต
ด้าน คุณอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์ค่าย บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า ถ้าเกณฑ์ของ ธปท.บังคับใช้จริง ฝ่ายวิจัยก็จะต้องปรับลดประมาณการลงอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ตอนนี้ว่าจะลดลงมากน้อยอย่างไร ดังนั้น ในระยะสั้น คงแนะให้หลีกเลี่ยงไปก่อน แม้ว่ามาตรการนี้จะกระทบกับผู้ประกอบการที่ปล่อยสินเชื่อบุคคลทุกรายในอุตสาหกรรม ซึ่งในแง่มุมบวกจะช่วยยกระดับคุณภาพสินทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรมให้ดีขึ้น
ด้าน บล.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ระบุว่า แนวโน้มกำไรไตรมาส 2/60 มีโอกาสจะอ่อนตัวลงจากไตรมาสแรก แต่จะยังเติบโตดีจากปีก่อน เพราะฐานที่ต่ำ โดยการอ่อนตัวของจากไตรมาสแรก เป็นผลจากค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้น บวกกับยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตไม่มาก เมื่อรวมกับแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อจะอ่อนแอลงตามปัจจัยฤดูกาล
ทางฝั่ง คุณอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ บล.เอเซีย พลัส คุณอุษณีย์บอกว่า จากเกณฑ์ที่ทาง ธปท.เตรียมทบทวนคุมเข้มสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตนั้น มองว่า KTC จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทเกือบทั้งหมด และยังเป็นลูกค้าระดับกลาง ทำให้มีสัดส่วนสินเชื่อต่อรายมากกว่าผู้ประกอบการที่เจาะกลุ่มลูกค้าระดับล่าง
ทางเอเซียพลัสยังได้สอบถามไปทางผู้บริหาร AEONTS พบว่าไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายครั้งนี้ เพราะส่วนใหญ่เป็นฐานลูกค้าระดับล่างที่มีรายได้เดือนละ 7,000 บาทขึ้นไป และปล่อยสินเชื่อไม่เกิน 2 เท่าของรายได้ต่อเดือน ทำให้ผลกระทบที่เป็นสัดส่วนต่อรายได้จึงไม่สูง หรือไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น นักวิเคราะห์จึงไม่ได้ปรับประมาณการ AEONTS ซึ่งคาดว่าจะมีกำไรปีนี้ 2,645 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% จากปีก่อนที่ทำได้ 2,403 ล้านบาท พร้อมคงราคาเหมาะสม 124 บาท
สำหรับผลกระทบในหุ้นธนาคารพาณิชย์ ทางเอเซียพลัสมองว่ามีน้อย เพราะมีสัดส่วนสินเชื่อทั้ง 2 ประเภทไม่มาก โดยส่วนใหญ่มีสัดส่วนไม่ถึง 20% ของยอดสินเชื่อรวมทั้งหมด ขณะที่ผ่านมา จากความเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ต้องดำเนินการคุมเข้มอยู่แล้ว จึงไม่น่าเป็นประเด็นที่ต้องกังวล
ขอบคุณข้อมูล : SET, Money Channel, siamchart, สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย