#แนวคิดด้านการลงทุน

สรุปหนังสือ "หุ้นสามัญกับ Philip A. Fisher

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
1,447 views

ครั้งหนึ่งวอเร็น บัฟเฟตต์ นักลงทุนระดับตำนานบอกว่า บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดในเรื่องของการลงทุนของเขามีอยู่ 2 คน คนแรกคืออาจารย์ของเขา "เบน" เบนจามิน เกรเฮม และคนที่สองคือ ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ในอดีตดุเหมือนว่าอิทธิพลของเกรเฮมจะมีมากกว่า แต่ในตอนนี้บัฟเฟตต์บอกว่าในเลือดของเขามีส่วนผสมของฟิชเชอร์ถึง 70% และอีก 30% คือ เบน เกรเฮม

 

ฟิลลิป ฟิชเชอร์ เขาเป็นคนเก่งขนาดนั้นเชียวหรือ ? 


ฟิลลิป ฟิชเชอร์ (Philip Fisher) มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1907-2004 เป็นนักคิด นักลงทุน นักจิตวิทยาเกี่ยวกับการลงทุนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงมากคนหนึ่ง เขาทำงานอยู่ในออฟฟิศเล็กๆแห่งหนึ่งที่ West Coast หลังจากที่พลาดท่ากับตลาดหุ้นในช่วงของวิกฤตเศรษฐกิจหายนะตลาดหุ้นสหรัฐ the Great Depression แล้วเขาก็กลับมาใหม่ด้วยกลยุทธ์ที่เน้นในเรื่องของ "ซื้อแล้วถือ" โดยอิงอยู่กับปัจจัยพื้นฐานและการเติบโตของกิจการ รวมถึงมูลค่าที่เหมาะสมซึ่งเป็นสิ่งที่พัฒนามาจากแนวคิดของเบนจามิน เกรเฮม หลังจากนั้นเขาก็ทำงานเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย Stanford School of Business และเขียนหนังสือด้านการลงทุนหลายเล่ม แต่เล่มที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือ Common Stocks and Uncommon Profits (ชื่อไทย คือ หุ้นสามัญกับกำไรที่ไม่สามัญ แปลโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร)

วันนี้ผมจะมาสรุปหลักการของหนังสือ Common Stocks and Uncommon Profits ที่ได้จากการอ่านครับ

 

 

"ตลาดหุ้น คือ สถานที่ที่เต็มไปด้วยคนที่รู้ราคาของทุกสิ่ง แต่กลับไม่รู้มูลค่าของอะไรเลย" ฟิลลิป ฟิชเชอร์

เครดิตภาพ : pantip.com

 

- บริษัทเป็นเจ้าของสินค้าหรือบริการที่มีความได้เปรียบทางการแข่งขันหรือไม่ นั้นหมายถึง ในแต่ละปีบริษัทสามารถขายสินค้าเพิ่มขึ้นทุกปีได้หรือไม่ ถ้าบริษัทที่ขายสินค้าได้น้อยลงอาจจะเป็นสัญญาณของสินค้าที่ล้าสมัยและตะวันตกดินลงไปเรื่อยๆ

 

- เมื่อบริษัทขายสินค้าได้มากขึ้น แล้วกำไรของบริษัทเติบโตขึ้นตามยอดขายหรือไม่ ถ้าบริษัทเร่งขายสินค้ามากเกินไป กำไรของบริษัทก็จะไม่ดีเท่าที่ควร มันจะเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์เลยที่เราขายสินค้าแต่กลับขาดทุนหรือมีอัตรากำไร (Margin) ที่น้อยลงเรื่อยๆ

 

- บริษัทมีฝ่ายวิจัยที่แข็งแกร่งหรือไม่ และงบที่ใช้ในการวิจัยคิดเป็นขนาดเท่าไรเมื่อเทียบกับยอดขาย

- ทีมขาย ฝ่ายขายของบริษัทมีศักยภาพมากน้อยขนาดไหน

- อัตรากำไรสุทธิ (Profit Margin) เป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับยอดขาย

- อัตรากำไรสุทธิย้อนหลังหลายๆปี มีแนวโน้มเป็นอย่างไร คงตัว ลดลง หรือเพิ่มมากขึ้น

- พนักงานของบริษัทหรือแม้แต่คนงานระดับล่าง มีศักยภาพที่ดีหรือไม่ มีความพอใจในการทำงานกับบริษัทหรือเปล่า เพราะถ้าลูกจ้างหรือคนงานไม่มีความสุขในการทำงานในองค์กร นั้นเป็นสัญญาณเริ่มต้นของหายนะของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประท้วง การขอขึ้นเงินเดือน บอยคอร์ตกับสิ่งที่ตัวเองคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม และนั้นหมายถึงบริษัทจะต้องจ่ายเงินออกไปมากขึ้น

 

- ฝ่ายทีมบริหาร มีความสามารถเพียงพอหรือมีกลยุทธ์ที่จะสร้างกำไรให้บริษัทได้มากน้อยแค่ไหน

 

- โครงสร้างรายจ่ายของบริษัทเป็นอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นรื่องของต้นทุนขายที่โตมากกว่ายอดขายก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ไม่ดี หรือแม่่แต่ยอดขายของบริษัทเท่าเดิมแต่กลับมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารที่เพิ่มมากขึ้น ก็ถือเป็นสัญญาณตกต่ำของบริษัท

 

- ในอุตสาหกรรมของบริษัท แข่งขันกันสูงหรือไม่ มีการเล่นสงครามราคากันมากน้อยขนาดไหน ซึ่งสงครามราคามีกันในทุกอุตสาหกรรมในยุคของตลาดเสรี

 

- กลยุทธ์ระยะสั้น ระยะยาว ของบริษัทเป็นอย่างไร เป้าหมายอนาคตของบริษัทมีคุณค่าที่จะลงทุนขนาดไหน และที่สำคัญคือนักลงทุนจำเป็นจะต้องประเมินให้ออกว่าสิ่งที่ผู้บริหารพูดมีโอกาสเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยากมาก

 

- การทำนายการเติบโตของบริษัทโดยผู้บริหาร โดยส่วนใหญ่แล้วมักจะพลาดเป้า

 

- เมื่อผู้บริหารทำงานผิดพลาด เขายอมรับที่จะคุยกับนักลงทุนหรือไม่ หรือกล่าวขอโทษที่ทำให้เงินของนักลงทุนเสียหาย ทุกๆคนสามารถทำผิดพลาดได้ แต่ถ้าผิดแล้วรู้จักแก้ไข ก็ถือเป็นเรื่องที่ดี

 

- ทีมบริหาร มีคุณธรรมและจริยธรรมขนาดไหน ถ้าทีมบริหารไม่มีจริยะธรรม สิ่งที่เขาจะทำมีเพียงอย่างเดียว คือ โกงบริษัทอย่างไรให้ได้มากที่สุด

 

ข้อห้าม 4 ประการ ของฟิลลิป ฟิชเชอร์


- อย่าซื้อหุ้นที่ราคาแพง หรือให้ค่าพรีเมียมกับบริษัทมากจนเกินไปไม่ว่าบริษัทจะดีขนาดไหนก็ตาม

 

- อย่ามองข้ามหุ้นดี ถ้าเราพบหุ้นที่ดี ให้จดมันไว้ในสมุดบันทึก เพราะไม่แน่ว่าสักวันเราอาจจะได้เป็นเจ้าของมัน ในราคาที่สมเหตุสมผล หรือนักลงทุนคนอื่นๆเทขายหนีตายอย่างหนัก

 

- อย่าซื้อหุ้นเพราะสีสันในรายงานประจำปี หรือการต้อนรับที่ดีในงานประชุมผู้ถือหุ้น

 

- อย่าขายหุ้นออกไปเพียงเพราะว่ามันราคาแพง เพราะการแพงของมันในวันนี้ บริษัทที่เติบโตจะช่วยชดเชยให้มันกลายเป็นของถูกในวันหน้า

 

หุ้นสามัญกับกำไรที่ไม่สามัญ เป็นหนังสือการลงทุนที่ผู้เขียนคิดว่าอ่านยากที่สุด 

และยากกว่า The Intelligent Investor ด้วย

 

----------------------------------

เขียนโดย SiTh LoRd PaCk


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง