AS บริษัทผู้ให้บริการเกมออนไลน์ชั้นนำของประเทศไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เจาะโมเดลธุรกิจ AS บริษัท เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป้าหมายเทิร์นอะราวด์ กับโมเดลเกมบนมือถือ กับ ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล และดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร ในรายการ Business Model สรุปสาระสำคัญมาให้อ่านกันจากการฟังรายการย้อนหลัง
ลักษณะธุรกิจ
เป็นผู้ให้บริการด้านความบันเทิงออนไลน์ชั้นนำ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Regional Online Entertainment Service Provider) ก่อตั้งขึ้นในปี 2544 โดยมุ่งเน้นการให้บริการเกมออนไลน์ (Online Games) ในประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ เอเชียซอฟท์ดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การพัฒนาเกมออนไลน์ การให้บริการโฆษณาออนไลน์ ให้บริการเว็บเกม (Game Portal) www.playpark.com และ การให้บริการเติมเงินออนไลน์ ผ่านระบบเอแคส (@Cash)
บริษัทจำเป็นจะต้องหา Business Model ใหม่ๆ หวังพึ่งรายได้ที่มาจาก "ขายไอเทมในเกม" น่าจะเป็นเรื่องยาก
ส่วนที ดร.วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล วิเคราะห์ไว้ในรายการ
- บริษัทให้บริการเกมออนไลน์ในไทย สิงคโปร มาเลเซีย เวียดนามและฟิลิปปินส์
- รายได้จากไทย 49% และภูมิภาคอีก 51% ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งเยอะในต่างประเทศและรายได้ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ประเทศไทยมากกว่า
- รายได้มาจากการขายไอเทม"บนเกม" ซึ่งเกมทั่วไปจะเป็นเกมเล่นฟรีก่อน ถ้าคุณอยากชนะ อยากเหนือกว่าคนอื่นก็ต้องมีการจ่ายเงินเพื่อซื้อของในเกม
- ในปัจจุบันนี้รายได้จากการเล่นเกมผ่านคอมพิวเตอร์สูงถึง 95% ซึ่งตลาดเกมมือถือยังมีช่องให้เติบโตอีกเยอะ แต่คู่แข่งก็มีเยอะเช่นเดียวกัน
- Gross Margin 39% ในขณะที่รายจ่ายในการขายและบริหารสูงถึง 32% พอหักลบแล้วทำให้ EBIT Margin เหลือแค่ 7% นั้นหมายถึงต้นทุนค่าลิขสิทธิ์แพงมาก
- เรื่องของเกมลิขสิทธิ์เป็นอะไรที่มาเร็วและไปเร็วมาก ในขณะที่ต้นทุนสูง
- ปัญหาที่เด่นชัดที่สุดคือ เกมบางเกม ซื้อมาแล้วอาจจะไม่ถูกใจลูกค้าหรือไม่เป็นที่นิยม ทำให้เกิด Negative Cash flow นั้นหมายถึง เราจ่ายค่าลิขสิทธิ์ออกไปก่อนซึ่งเยอะกว่ารายรับที่ได้รับเข้ามาจากลูกค้า
- ในสิ่งที่น่าสนใจคือ Market Cap ของบริษัทประมาณพันล้าน ยอดขายพันล้าน ไม่มีหนี้ และขาดทุนสะสมอยู่ 200 ล้าน
- บริษัทจำเป็นจะต้องหาอะไรใหม่ๆ หมายถึงหาธุรกิจใหม่ที่บริษัทมีความชำนาญ ไม่หวังพึ่งจากเกมออนไลน์เพียงอย่างเดียว
- ต้องออกตัวก่อนว่า ส่วนตัวไม่ได้มีความชำนาญทางด้านเกม ดังนั้นนักลงทุนที่จะลงทุนหุ้นตัวนี้ต้อง Company visit และติดตามอย่างใกล้ชิดครับ
"ยุคทองของอุตสาหกรรมเกมได้ผ่านพ้นไปแล้ว" ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ส่วนที ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร วิเคราะห์ไว้ในรายการ
- ผมมองอุตสาหกรรมเกม กับอุตสาหกรรมภาพยนต์นี้เป็นเรื่องเดียวกัน คล้ายๆกัน
- ยุคทองของอุตสาหกรรมเกมผ่านพ้นไปแล้ว รวมถึงหนังด้วย
- การเล่นเกมเป็นเรื่องของเด็กไปจนถึงวัยรุ่นที่อายุไม่เกิน 25 ปี ก็จะเล่นเกมน้อยลง ซึ่งมันสวนกับเมกะเทรนที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ นั้นหมายถึงคนเล่นเกมก็จะลดน้อยลงไปเรื่อยๆ ผมว่าตรงนี้น่าเป็นห่วง
- โลกกำลังเปลี่ยนไปเป็นมือถือ แต่การเล่นเกมในมือถือมันมีข้อจำกัด เช่น เกมไม่สนุก ภาพไม่สวย ไม่สามารถเล่นกันเป็นทีมได้ ซึ่งเกมที่เล่นคนเดียว เกมไม่สนุก มักจะเป็นเกมที่ไม่ทำเงิน ในขณะที่เกมที่เล่นกันเป็นทีม เป็นกลุ่ม มีความรุนแรงระดับหนึ่ง จะเป็นเกมที่ทำเงินได้มากกว่า
- แต่ก็ไม่ใช่อุตสาหกรรมเกมจะหายไป ผมว่ามันก็ยังอยู่ได้แต่ก็ไม่ได้โตมาก
- เกมเป็นสิ่งที่เปลี่ยนเร็วมาก เช่นบริษัทบอกว่าเกมนี้ซื้อมา จะใช้เวลา 3 ปี ซึ่งอาจจะยาวไป มันอาจจะอยู่ได้รับความนิยมแค่ปีครึ่ง อะไรแบบนั้น
- ผมมองว่าภาพรวม เป็นอุตสาหกรรมที่ไม่โต แต่เป็นอุตสาหกรรมที่พออยู่ได้
ราคาของ AS ที่ลดลง แต่ P/BV กลับสวนทางขึ้น .. บ่งบอกว่า Book Value ของ AS ลดลงเรื่อยๆ
- การโตของเกมเป็นการโตแบบหวือหวา หมายถึงปีนี้ เกมนี้นิยมมาก คนเล่นกันเยอะต้องจ่านเงิน บริษัทก็ทำเงินได้เยอะกำไรเยอะ แต่พอผ่านมาอีกปี คนเลิกนิยม รายได้เท่ากับศูนย์ ได้เลยนะ ผมว่ามันเป็นการเติบโตที่ไม่ยั่งยืน
- ถ้าเรามองดูดีๆ อุตสาหกรรมเกมเป็นอะไรที่น่าห่วงนะ บริษัทจะต้องหาธุรกิจใหม่ๆมาผสมกับธุรกิจเกมเพื่อหารายได้เพิ่ม หาโมเดลธุรกิจใหม่ๆที่มีความยั่งยืนและมั่นคงกว่า
- ผมเห็นงบการเงินของบริษัท ขาดทุนเยอะมาก 400 กว่าล้าน เป็นครึ่งหนึ่งของบริษัทเลยนะ ถ้าไม่ได้แย่จริงๆ ผมว่าคงไม่เห็นการขาดทุนแบบนี้อีกแล้วละ
--------------------------------------------------
ขอบคุณแหล่งข้อมูล : รายการ Business Model รายการ Money Channel : เจาะโมเดลธุรกิจ AS เป้าหมายเทิร์นอะราวด์ กับโมเดลเกมบนมือถือ