#ลงทุนแนวปัจจัยพื้นฐาน

วิเคราะห์หุ้น BEM ผ่าน 5 Forces Model (ตอน 1)

โดย stock2morrow
เผยแพร่:
1,128 views

หลายท่านที่ทำธุรกิจ หรือลงทุนในหุ้น โดยใช้ปัจจัยพื้นฐาน คงคุ้นเคยกับ การวิเคราะห์หุ้นหรือธุรกิจผ่าน 5 forces model for competition analysis ของ Michael E Porter ซึ่งนับได้ว่าเป็น ปรมาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงินการลงทุน ระดับโลกกันเป็นอย่างดี  

 

ในความเป็นจริงแล้วโมเดล ดังกล่าวถูกสร้างขึ้นเพื่อ วิเคราะห์รายอุตสาหกรรม แต่บ่อยครั้งถูกตีความผิดไปในการเอามาใช้วิเคราะห์รายบริษัท วันนี้ 

 

ขอนำเสนอ การนำโมเดลดังกล่าว มาประยุกต์ในการวิเคราะห์หุ้น BEM ผ่าน 5 forces model กลยุทธ์การวิเคราะห์ธุรกิจ ผ่านปัจจัยทั้ง 5 อันได้แก่ การแข่งขันกันระหว่างคู่แข่งภายในอุตสาหกรรม  อำนาจการต่อรองของลูกค้า อำนาจการต่อรองของ supplier ภัยคุกคามจากสินค้าทดแทน ภัยจากผู้บุกรุกใหม่

 

ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการตัดสินใจเข้าสู่อุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ การระบุตำแหน่งรวมทั้งเข้าใจในทิศทางของอุตสาหกรรมสำหรับผู้ประกอบการเดิมที่อยู่ในอุตสาหกรรม เพื่อทราบและมีทิศทางที่ชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจต่อไป

 

การวิเคราะห์ภาวะอุตสาหกรรม จะวิเคราะห์ผ่านเกณฑ์ทั้ง 5 ด้าน ดังนี้

 

1.Rival Among Current Competitors : ภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม

               

              เนื่องจากธุรกิจของบริษัทประกอบไปด้วยการให้บริการทางพิเศษและระบบขนส่งมวลชนด้วยรถไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาเชิงพาณิชย์ที่เกี่ยวเนื่องกับระบบทางพิเศษและรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นรากฐานในการขยายธุรกิจผ่านการขยายเส้นทางโครงข่ายการให้บริการ ทั้งในระบบทางพิเศษและระบบรถไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทสามารถเป็นผู้นำในการดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการระบบขนส่งมวลชนและการคมนาคมชั้นนำในประเทศและภูมิภาค นอกจากนั้นยังสามารถต่อยอดธุรกิจเพิ่มเติมไปยังที่มีอัตราการเติบโต และผลตอบแทนที่ดี เช่น การพัฒนาเชิงพาณิชย์ การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นๆ

อัตราการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรม มีโอกาสเพิ่มขึ้นสูงกว่าปัจจุบันอีกมาก จากการขยายการให้บริการเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจำนวน 2 โครงการ จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) (หัวลำโพง-บางซื่อ) และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (สถานีคลองบางไผ่-เตาปูน) ซึ่งผ่านจุดสำคัญทั้งย่านธุรกิจ ย่านพักอาศัย เป็นส่วนขนส่งผู้โดยการจากทั้งส่วนตะวันออกและตะวันตก มาเชื่อมต่อกับระบบขนส่งรถไฟฟ้ากรุงเทพ(บีทีเอส)

 

                อีกทั้ง บริษัทฯ ยังเป็นเจ้าของ บริษัท แบงคอก เมโทร เน็ทเวิร์คส์ จำกัด (บีเอ็มเอ็น) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพัฒนาเชิงพาณิชย์ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในการจัดหาสื่อ จัดทำโฆษณารูปแบบต่างๆทั้งในรถไฟฟ้าและในสถานีรถไฟฟ้า การให้เช่าพื้นที่ภายในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และทั้งการแข่งขันในอุตสาหกรรมทั้งธุรกิจระบบทางพิเศษและรถไฟฟ้า เป็นธุรกิจผูกขาดไม่มีผู้แข่งขันอื่น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างสูงต่อบริษัทฯ

 

2.Threat of New Entrance : ภัยจากผู้บุกรุกใหม่

 

               บริษัทฯ เป็นผู้ประกอบการเดิมมีประสบการณ์ในการสร้างและบริหารระบบทางพิเศษและระบบรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัทฯ ทำให้เกิดการประหยัดจากประสบการณ์ (learning curve effect) ทำให้บริหารได้มีประสิทธิภาพมากกว่า และการขยายโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) (หัวลำโพง-บางซื่อ) และ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ (สถานีคลองบางไผ่-เตาปูน) ยังทำให้เกิด การประหยัดต่อขนาด (economy of scale) เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างมาก เมื่อเทียบกับบริษัทที่จะเข้ามาใหม่

 

 

ในส่วนของ Capital barrier ทำให้ผู้ประกอบการใหม่ ต้องทำ R&D ในเส้นทางที่ควรขยายไป รวมทั้งการประมูลค่าสัมปทานกับภาครัฐ และเงินลงทุนในการก่อสร้างและต้นทุนเงินทุนต่างๆ ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก ทำให้เกิดคู่แข่งรายใหม่ๆได้ยาก เนื่องจากติดปัญหาเงินลงทุนแรกเริ่มและความชำนาญ อีกทั้งบริษัท ยังถือหุ้นโดย บริษัท ช. การช่าง เป็นการขยาย supply chain ไปยังต้นน้ำ ทำให้ประหยัดค่าก่อสร้างได้อีกทางหนึ่ง

 

 

 

 

คราวหน้าเราจะมาคุยกันต่อ สำหรับ อีก 3 Forces ที่เหลือ...

 

อย่าลืมติดตามกันนะคะ 

- Yoo -

 


ศูนย์รวมความรู้เรื่องหุ้น ศูนย์รวมนักลงทุนรายย่อย ที่อยากรู้วิธีการลงทุนในหุ้นอย่างถูกต้องและได้กำไรอย่างยั่งยืน ติดตามเราได้ที่

www.stock2morrow.com 

FB: stock2morrow 

LINE@stock2morrow

FacebookInstagramYoutubeLine

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง