#แนวคิดด้านการลงทุน

ทำไมธุรกิจถึงจะอยากรับ Bitcoin

โดย ดร. ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์
เผยแพร่:
367 views

ในหนึ่งปีที่ผ่านมาราคาของ Bitcoin ได้พุ่งขึ้นมาแล้วกว่า 300% และมี market value กว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (มากกว่า Ebay เสียอีก) 

 

 

จากเดิมที่ Bitcoin เป็นแค่กระแสฮิตในห้องแชท ทุกวันนี้ธุรกิจหลายแห่งทั่วโลกเริ่มรับ Bitcoin กันอย่างเป็นทางการมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Microsoft  Expedia ร้าน Bic Camera ที่พวกเราชอบไปเที่ยวในญี่ปุ่น แม้กระทั่งร้านอาหารบางร้าน เช่น ร้านก๋วยเตี๋ยวไทยลิ้มเหล่าโหงว  และมีการคาดกันว่าภายในปีนี้จำนวนร้านค้าที่รับ Bitcoin จะทะลุ 3 แสนแห่งในประเทศญี่ปุ่น

 

แต่มีคำถามที่ยังคาใจหลายๆ คนอยู่ก็คือ ถ้ามันยังมีความเสี่ยงและความไม่แน่นอนขนาดนี้ร้านค้าได้อะไรจากการรับ Bitcoin?”

 

บทความนี้อธิบายเหตุผลหลักๆ 3 เหตุผลว่าทำไมร้านค้าบางร้านถึงเริ่มรับ Bitcoin ทั้งๆ ที่คนส่วนมากก็เพิ่งจะรู้จักมันเมื่อไม่กี่ปี (หรือเดือน) มานี้

 

1. ต้นทุนการทำธุรกรรมต่ำ (แต่อาจไม่ตลอดไป)

ข้อได้เปรียบข้อแรกคือการทำธุรกรรมด้วย Bitcoin นั้นมีต้นทุนต่อผู้ขายโดยรวมแล้วยังต่ำกว่าการทำธุรกรรมด้วยวิธีอื่น

ยกตัวอย่างเช่น การรูดบัตรเครดิต ปกติมักมีค่าธรรมเนียมที่ทำให้เงินของลูกค้าหลุดออกจากมือผู้ขายไปตั้งแต่ 1.5% ถึง 3%  แปลว่าถ้าสินค้าราคา 100 บาท แทนที่ร้านค้าจะได้รับเต็มๆ 100 บาทเหมือนเวลารับเงินสด มันจะเข้าร้านแค่ 97 ถึง 98.5 บาทเท่านั้น ที่เหลือไหลไปหาธนาคารของผู้ขายและลูกค้ากับตัวกลางเช่น Visa หรือ mastercard  ในกรณีขายผ่าน Paypal ร้านค้ายิ่งอ่วมเนื่องจากค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 2.9% บวกกับ fixed fee ตามสกุลเงิน

 

แต่สิ่งที่หลายคนมักเข้าใจผิดคือในกรณีของ Bitcoin ก็ใช่ว่าจะไม่มีต้นทุนธุรกรรม แทนที่เงินบางส่วนจะไหลไปสู่ธนาคารหรือ Visa  เสี้ยวเล็กๆ ของเงินก้อนนี้จะไหลไปสู่ “นักขุด” หรือ miners เพื่อแลกกับ “ค่าเหนื่อย” (และค่าไฟ) ที่พวกเขาช่วยตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมใน ledger (สมุดบันทึกรายการเดินบัญชี) ของ Blockchain 

 

 

ต้นทุนนี้จะสูงหรือต่ำแค่ไหนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย  ปัจจัยหนึ่งคือ wallet ดิจิทัลบริหารโดยบริษัทไหน ยกตัวอย่างเช่น หากทั้งลูกค้าและร้านค้ามี wallet กับบริษัท coinbase ทั้งลูกค้าทั้งผู้ขายไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ธุรกรรมไม่มีต้นทุนเพราะ coinbase อุดหนุนจ่ายให้ (ซึ่งมักจะอยู่ประมาณ 0.0005 ถึง 0.0001 BTC)  แต่เมื่อคุณมียอดขายเกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เวลาคุณจะถอน Bitcoin ออกไปเข้าธนาคาร coinbase จะเริ่มเก็บค่าธรรมเนียมที่ 1%  (อีกข้อดีของการมีตัวกลางแบบนี้ คือบางแห่งมี option ให้ขาย Bitcoin เป็นสกุลหลักทันทีที่ขาย จะได้ไม่ต้องเครียดเรื่องความผันผวนของค่าเงิน Bitcoin เกินไป)

 

หากจะไม่ผ่านตัวกลางเลย ระบบ Bitcoin เป็นระบบที่ลูกค้าเป็นคนจ่ายค่าธรรมเนียมในการทำธุรกรรม  ซึ่งส่วนมากร้านค้าจะช่วยแก้ปัญหานี้โดยการให้ส่วนลดนิดหน่อยเพื่อแลกกับค่าธรรมเนียมที่ลูกค้าต้องจ่าย

 

(caption: ค่ามัธยฐานต่อ 1 ธุรกรรม (USD) ที่มา: https://bitinfocharts.com )

 

แต่ที่สำคัญที่สุดคือหลายคนกังวลมากกับโครงสร้างต้นทุนธุรกรรม Bitcoin ที่ไม่ยั่งยืน  ตอนนี้ค่าธรรมเนียมอยู่ที่ราวๆ 2 ดอลลาร์ต่อธุรกรรมแล้ว และหากไม่มีการโหวตเปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนนี้หรือไม่มีการอัพเกรดระบบด้วย SegWit (https://cointelegraph.com/explained/segwit-explained) อาจมีแนวโน้มที่ท้ายสุดค่าธรรมเนียมจะขึ้นไปสูงจนเริ่มไม่คุ้มการทำธุรกรรมขนาดย่อม เช่น การซื้อกาแฟหรือจ่ายกับข้าวโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ มีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากๆ

 

2. คล้ายรับเงินสด รับเงินเร็ว ไม่มี Chargeback

ธุรกรรมที่ผ่าน Bitcoin นั้นคล้ายกับเวลาลูกค้าจ่ายด้วยเงินสดตรงที่ว่าเมื่อธุรกรรมนั้นเสร็จสิ้น ทุกคนแยกย้าย ทุกอย่างเป็นอันจบ โดยโครงสร้างของ Bitcoin แล้วจะไม่มีการย้อนหรือยกเลิกธุรกรรมนั้นได้ 

 

ซึ่งต่างจากในกรณีที่ร้านค้ามักต้องเป็นผู้จ่ายค่า chargeback (การปฏิเสธการชำระเงิน) ด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นเพราะว่าบัตรเครดิตลูกค้าถูกขโมยมาซื้อของจากร้านคุณ หรือ คุณบังเอิญโชคร้ายมีลูกค้าที่ซื้อของคุณไปใช้แล้วพอใจแต่กลับเริ่มข้อพิพาทกับธนาคารว่าเขาไม่ควรถูกคุณเก็บเงินไป

 

 

นี่เป็นอีกหนึ่งในจุดขายของการรับ Bitcoin เนื่องจากในหลายๆ ประเทศนั้นผู้ขายเสียเปรียบกว่าผู้ซื้อมากในมิติของกฎหมาย chargeback ซึ่งโดยส่วนตัวแล้ว ผมคิดว่าคงจะเป็นเพราะว่าสังคมต้องการปกป้องผู้บริโภคให้ที่สุดเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมด้วยบัตรเครดิตหรือการทำธุรกรรมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เงินสด

 

3. เปิดโอกาส PR

 

ในขณะที่ Bitcoin กำลังร้อนแรง การเริ่มรับ Bitcoin ถือเป็นการ position แบรนด์ตัวเองว่า “ทันสมัย” ก็ว่าได้

จะสังเกตได้ว่ากลุ่มบริษัทที่เริ่มรับ Bitcoin เป็นแห่งแรกๆ มักจะเป็นบริษัทที่คลุกคลีกับเทคโนโลยีอยู่เป็นประจำ เช่น สำหรับ Zynga Steam หรือ Wordpress.org การเริ่มรับ Bitcoin นั้นสอดคล้องกับ “ความเป็นตัวเอง”ของบริษัทเขาอยู่แล้ว

 

เรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือการที่ร้านค้าหรือร้านอาหารเล็กๆ บางร้านก็เริ่มรับ Bitcoin หรือสกุลดิจิทัลสกุลอื่นๆ กันแล้วเหมือนกัน

 

 

ตัวอย่างที่โด่งดังไปทั่วอินเตอร์เน็ตเมื่อสามปีก่อนคือร้าน Burger Bear ในกรุงลอนดอนที่ 25% ของรายได้มาในรูปแบบของเงินดิจิทัล  ที่น่าประทับใจที่สุดคือการที่ร้านนี้สามารถระดมทุนผ่าน Twitter ในรูปแบบของ Dogecoin (เงินดิจิทัลรุ่นน้องของ Bitcoin ที่ค่อนข้างมีความแน่นแฟ้นในหมู่ผู้ใช้มากกว่า) เพื่อทำเบอร์เกอร์เลี้ยงคนจนที่ไม่มีข้าวกินได้เป็นร้อยๆ คน  

 

ถือเป็นวิธีใช้เงินดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งแบรนด์ตัวเองและสังคมได้อย่างน่านับถือจริงๆ เพราะหากจะระดมทุนจากคนทั่วโลกด้วยวิธีอื่นๆ ในเวลาจำกัดและมีต้นทุนต่ำมันไม่ใช่ของง่ายเลย

 

ติดตามบทวิเคราะห์จากมุมมองเศรษฐศาสตร์ที่เข้าใจง่ายได้ที่ www.settakid.com  


ผู้เขียนเป็นเจ้าของเว็บไซต์ settakid.com ที่วิเคราะห์ประเด็นเปลี่ยนโลกผ่านมุมมองเศรษฐศาสตร์แบบเข้าใจง่ายๆ  คุณ ณภัทร จบปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยคอร์เนลและจอนส์ ฮอปกินส์ เคยมีประสบการณ์ทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ดและธนาคารโลก และสำเร็จการศึกษาปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อยู่ที่มหาวิทยาลัยมินนิโซต้า เป็นนักเขียนรับเชิญของ stock2morrow และเป็นคอลัมนิสต์ประจำสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า

Facebook

บทความอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง